ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชัชวาล ศิลปกิจ,รุ่งทิพย์ ประเสริฐชัย

ชื่อเรื่อง/Title: การใช้กลุ่มบำบัดแบบ Matrix model ในผู้ป่วยติดสุรา : ติดตามผล 2 ปี.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย, ปีที่ 15, ฉบับที่ 3, 2550, หน้า 170.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ กลุ่มจิตบำบัดแบบ Matrix model พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับผู้ป่วยติดสารกระตุ้นโดยเฉพาะ การศึกษานี้เพื่อประเมินผลการบำบัดแบบ Matrix model ในผู้ป่วยติดสุราโดยติดตามผู้ป่วยที่เข้าบำบัดเป็นเวลา 2 ปี วัสดุและวิธีการ ดำเนินงานในแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ป่วยที่ศึกษาคือผู้ป่วยที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอกที่ได้รับการตรวจรักษาจากจิตแพทย์ หรือผู้ป่วยในที่ผ่านการถอนพิษสุราแล้ว กลุ่มบำบัดแบบ Matrix model ใช้เวลา 4 เดือน แบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลักคือ กลุ่มทักษะการเลิกยาในระยะต้น (Early recovery ) กลุ่มป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ (Relapse prevention) และกลุ่มให้ความรู้แก่ครอบครัว (Family education) จำนวน 8, 32 และ 12 ครั้งตามลำดับ กิจกรรมจัดในวันจันทร์ พุธ และศุกร์เวลา 15.00-16.30 น.ผู้บำบัดประกอบไปด้วยจิตแพทย์ พยาบาลและนักจิตวิทยาคลินิก ประเมินผลการบำบัดจากการกลับไปใช้แอลกอฮอล์ของผู้ป่วยโดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ไม่ดื่มเลย (clean) เผลอดื่มเป็นครั้งคราว(silp) และกลับไปดื่มอีก (relapse) ติดตามข้อมูลจากผู้ป่วย 4 ครั้ง เมื่อออกจากการบำบัดได้ 1, 4, 8 และ 24 เดือน โดยสัมภาษณ์ผู้ป่วยโดยตรงเวลาที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์หรือมาเข้ากลุ่มตามโอกาส สำหรับผู้ป่วยที่ขาดการติดต่อ ติดตามโดยโทรศัพท์สอบถามข้อมูลจากผู้ป่วยและคนในครอบครัวนอกจากนี้ยังมีการนัดผู้ป่วยทุกคนที่เคยเข้ารับการบำบัดมาพบกันปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และติดตามประเมินผลเพิ่มเติม ผล ผู้ป่วยติดสุราที่เข้าบำบัดทั้งหมด 41 คน เป็นชาย 37 คน (90.2%) บำบัดครบโปรแกรม 4 เดือน 13 คน (31.7%) เมื่อครบ 2 ปี พบว่า ผู้ป่วยที่อยู่บำบัดครบโปรแกรมไม่กลับไปดื่มเลย 6 คน (46.2%) เผลอดื่มเป็นครั้งคราว 3 คน (23.1%) และกลับไปดื่มอีก 4 คน (30.8%) ผู้ป่วยที่อยู่ ไม่ครบโปรแกรม 28 คน (68.3%) ติดตามได้ครบ 2 ปี 20 คน (71%) ไม่กลับไปดื่มเลย 5 คน (25%) เผลอดื่มครั้งคราว 6 คน (30%) และกลับไปดื่มอีก 9 คน (45%) มีแนวโน้มว่าผู้ที่บำบัดครบโปรแกรมสามารถหยุดดื่มได้ดีกว่ากลุ่มที่บำบัดไม่ครบ เหตุผลสำคัญของการบำบัดไม่ครบโปรแกรมคือ ปัญหาเรื่องเวลาทำงาน และปัญหาการเดินทาง สรุป กลุ่มบำบัดแบบ Matrix model สามารถประยุกตร์กับผู้ป่วยติดสุราได้ การเข้าถึงบริการมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย การบำบัดในช่วงเวลาและสถานที่ที่เอื้ออำนวยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกจะทำให้ผลการบำบัดดียิ่งขึ้น.

Keywords: matrix model, ติดสุรา, สารเสพติด, ยาเสพติด, กลุ่มบำบัด, สุรา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2005

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

Code: 20080034

ISSN/ISBN: 2859-497-x

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: