ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิราภรณ์ นพคุณขจร

ชื่อเรื่อง/Title: การเจ็บป่วยทางจิตและความเข้มแข็งในการมองโลกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติคลื่นสึนามิที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง, ปีที่ 23, ฉบับที่ 1, มกราคม-เมษายน 2550, หน้า 1.

รายละเอียด / Details:

ภัยพิบัติคลื่นสึนามิ นอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต และทรัพย์สินแล้วยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงต่อผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา ความเข้มแข็งในการมองโลกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเป็นปัจจัยหนึ่งในการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการเจ็บป่วยทางจิตและความเข้มแข็งในการมองโลกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติคลื่นสึนามิ ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ กลุ่มประชากรที่ศึกษาได้แก่ ผู้ประสบภัยพิบัติ และญาติผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 38 ราย และ 64 ราย ตามลำดับ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปแบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้างเพื่อการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช (M.I.N.I.) (ฉบับภาษาไทย) และ แบบสอบถามความเข้มแข็งในการมองโลกของ กนกพร สุคำวัง (2540) ที่ดัดแปลงมาจากแบบวัดความเข้มแข็งในการมองโลกของ แอนโทนอฟสกี (Antonovsky, 1987) หาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.95 และเก็บข้อมูลแบบภาคสนาม โดยผู้วิจัยเป็นผู้สอบถาม และสัมภาษณ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2548 ถึง มกราคม 2549 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 57.9 ของผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิ ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีการเจ็บป่วยทางจิต ดังนี้ มีภาวะวิตกกังวลร้อยละ 34.2 มีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 21.1 มีภาวะเครียดหลังภัยพิบัติ ร้อยละ 18.4 มีการใช้สุราร้อยละ 15.8 มีการติดสุราร้อยละ 13.2 และ มีความคิดอยากฆ่าตัวตายร้อยละ 10.5 และร้อยละ 40.6 ของญาติผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิ มีการเจ็บป่วยทางจิต ดังนี้ มีภาวะวิตกกังวลร้อยละ 29.7 มีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 23.4 มีภาวะเครียดหลังภัยพิบัติร้อยละ 17.2 มีความคิดอยากฆ่าตัวตายร้อยละ 14.1 มีการใช้สุราร้อยละ 7.9 และมีการติดสุราร้อยละ 3.1 ด้านความเข็มแข็งในการมองโลก พบว่า ร้อยละ 57.9 ของผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิ มีความเข้มแข็งในการมองโลกโดยรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม และร้อยละ 56.3 ของญาติผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิ มีความเข้มแข็งในการมองโลก โดยรวมอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ส่วนในรายด้าน พบว่า ผุ้ประสบภัยพิบัติ และญาติผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิ มีความเข้มแข็งในการมองโลกในด้านความสามารถให้ความหมาย และด้านทำความเข้าใจอยู่ในระดับต่ำ แต่มีความเข้มแข็งในการมองโลกด้านการบริหารจัดการอยู่ในระดับสูง ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้บุคลากรพยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข นำไปเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และญาติเพื่อพัฒนาให้มีระดับความเข้มแข็งในการมองโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะด้านให้ความหมาย และด้านความเข้าใจเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทางจิตที่รุนแรงต่อไป ผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติคลื่นสึนามิ การเจ็บป่วยทางจิต ความเข้มแข็งในการมองโลก.

Keywords: ภัยพิบัติ, สึนามิ, สุขภาพจิต, ความเข้มแข็งทางใจ, ผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติคลื่นสึนามิ, การเจ็บป่วยทางจิต, ความเข้มแข็งในการมองโลก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง

Code: 20080039

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: