ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พีรพันธ์ ลือบุญธวัชชัย

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลกับโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยซึมเศร้าไทย: การศึกษาโดยมีกลุ่มควบคุมแบบจับคู่.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ปีที่ 53, ฉบับที่ 1, มกราคม-มีนาคม 2551, หน้า 69.

รายละเอียด / Details:

ที่มาและเหตุผล การศึกษาที่ผ่านมาหลายการศึกษาได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของจิตบำบัด สัมพันธภาพระหว่างบุคคลในการรักษาโรคซึมเศร้า แต่ก็ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับกลไกของการรักษาอยู่จำกัด นอกจากนั้นก็ยังมีความแตกต่างกันตามบริบทของสังคมวัฒนธรรมที่ต่างกัน การศึกษาปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในผู้ป่วยซึมเศร้าไทยจะช่วยให้เข้าใจกลไกการเกิดโรคจากตัวกระตุ้นทางด้านสัมพันธภาพและช่วยในการพัฒนา คู่มือจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลให้เหมาะกับผู้ป่วยซึมเศร้าไทยได้ดียิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อค้นหาปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยซึมเศร้าไทย ได้แก่ อารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสีย ความขัดแย้งทางการเปลี่ยนผ่านบทบาท และความบกพร่องทางสัมพันธภาพระหว่างบุคคล วัสดุและวิธีการ ศึกษาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ที่ไม่ได้ซึมเศร้า จำนวน 90 คู่ โดยจับคู่จากเพศและอายุเดียวกัน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในแผนกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2550 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้าร่วมการศึกษา ได้แก่ ผู้ป่วยซึมเศร้ารายใหม่ ภายในช่วง 6 เดือนและ มีคะแนน Hamilton Rating Scale for Depression ฉบับภาษาไทย (Thai HRSD) ตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้นไป ส่วนผู้ที่ไม่ได้ซึมเศร้า ได้แก่ ผู้ที่มีคะแนน Thai HRSD 1ต่ำกว่า 8 คะแนน ผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบแบบสอบถาม 2 ชุด ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลกับโรคซึมเศร้าโดยใช้ McNemar's chi square test โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับน้อยกว่า 0.05 และแสดงระดับของความสัมพันธ์เป็นค่า odds ratio (OR) และช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (95%CI) ผลการศึกษา ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่เป็นหญิงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและตอนกลาง อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พบว่าปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลทั้ง 4 ด้าน มีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า (p‹0.01) โดยพบระดับความสัมพันธ์ของปัญหาสัมพันธภาพกับโรคซึมเศร้าดังนี้ อารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสีย OR=7.25 (95% CI=2.55-28.38) ความขัดแย้งทางบทบาทสัมพันธภาพ OR=4.30 (95% CI=2.13-9.60) การเปลี่ยนแปลงผ่านบทบาท OR=15.00 (95% CI=5.56-56.84) และความบกพร่องทางด้านสัมพันธภาพ OR=9.00 (95% CI=3.58-29.05) สรุป ปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลทั้ง 4 ด้าน มีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยซึมเศร้าไทย โดยปัญหาการเปลี่ยนแปลงผ่านบทบาทมีระดับความสัมพันธ์สูงสุด.

Keywords: โรคซึมเศร้า, จิตบำบัด, ซึมเศร้า, อารมณ์เศร้า, Thai HRSD, depression

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 20080073

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อวารสารวิชาการ

Download: