ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธัญชนก พรหมภักดี

ชื่อเรื่อง/Title: การดำเนินโรคและผลการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์: ศึกษาในผู้ป่วยที่ติดตามการรักษาไม่น้อยกว่า 10 ปี.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ปีที่ 53, ฉบับที่ 1, มกราคม-มีนาคม 2551, หน้า 81.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการดเนินโรคในระยะยาวและปัจจัยที่มีผลต่อการกลับเป็นซ้ำของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่มาติดตามการรักษาในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิธีการ เป็นการศึกษาแบบ retrospective descriptive study โดยเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Depressive disorder (F32) หรือ Recurrent depressive disorder (F33) ตาม ICD-10 โดยเป็นผู้ป่วยซึ่งมาตรวจที่โรงพยาบาลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2544 ถึง 30 มิถุนายน 2547 และมีรายละเอียดของการรักษาในเวชระเบียนย้อนหลังไปอย่างน้อย ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,655 ราย แต่ผู้ป่วยที่เข้าตามเกณฑ์คัดเลือกเพียง 51 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 6 ราย เพศหญิง 45 ราย มีจำนวนครั้งของการป่วยทั้งหมด 192 episode จำนวน episode เฉลี่ยต่อรายเท่ากับ 3.8 อายุเฉลี่ยที่เริ่มป่วยครั้งแรกในเพศหญิง 40.8 ปี ในเพศชาย 37.5 ปี เมื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างระดับความรุนแรงของโรคกับการฆ่าตัวตาย พบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการระดับรุนแรงมีความคิดฆ่าตัวตาย ร้อยละ 77.4 ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางพบว่าเพียงร้อยละ 12.9 เมื่อวิเคราะห์ multivariate โดยใช้ Cox proportional hazard พบว่าเพศ การขาดยา ระดับความรุนแรงของโรคใน episode แรก เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการกลับเป็นซ้ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเพศหญิงมีโอกาสกลับเป็นซ้ำมากกว่าเพศชาย 6.5 เท่า (95%CI=1.9-22.1) ผู้ที่มีประวัติขาดยามีโอกาสกลับเป็นซ้ำมากกว่าผู้ไม่ขาดยาประมาณ 4 เท่า (95%CI=1.6-10.1) และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงระดับปานกลาง (moderate) มีโอกาสกลับเป็นซ้ำมากกว่า ผู้ป่วยกลุ่มเล็กน้อย (mild) 3.4 เท่า (95%CI=0.7-15.6) เมื่อดูสภาวะการทำงานของผู้ป่วยในครั้งสุดท้ายที่ผู้ป่วยมาติดตามการรักษา พบว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะ full recovery, nearly full recovery, partial recovery และ partial disability ร้อยละ 11.8, 43.1, 33.3 และ 11.8 ตามลำดับ สรุป ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีผลการรักษาปานกลางถึงค่อนข้างดี โดยพบว่าเพศหญิง, ผู้ป่วยที่ขาดยาและผู้ป่วยที่มีอาการป่วยใน episode แรกระดับปานกลาง (moderate) ขึ้นไปจะมีโอกาสกลับเป็นซ้ำมากกว่ากลุ่มอื่น ได้เสนอให้มีการศึกษาถึงการดำเนินโรคในระยะยาวแบบ prospective study รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยควรศึกษาข้อมูลจากโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย เพื่อจะได้เข้าใจถึงภาพรวมของการดำเนินโรคซึมเศร้าในคนไทยทั้งหมดต่อไป.

Keywords: โรคซึมเศร้า, สุขภาพจิต, การฆ่าตัวตาย, ความรุนแรง, เวชระเบียน, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, depressive disorder

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Code: 20080072

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อวารสารวิชาการ

Download: