ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พนม เกตุมาน

ชื่อเรื่อง/Title: ความชุกของโรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย (PTSD) ในนักเรียน: ศึกษาหลังเหตุการณ์สึนามิผ่านไป 23 เดือน.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ปีที่ 53, ฉบับที่ 1, มกราคม-มีนาคม 2551, หน้า 8.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ ศึกษาความชุกของโรคความผิดปกติทางจิตภายหลังภยันตราย (post-traumatic stress disorder, PTSD) ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ภายหลังจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติ (สึนามิ) ผ่านไปแล้ว 23 เดือน วิธีการศึกษา เป็นการหาความชุกของโรค PTSD โดยใช้ cross-sectional survey with two-stage screening procedure โดยขั้นตอนแรกให้นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่สมัครใจตอบแบบสอบถาม Cries-8 ขั้นตอนที่สองจิตแพทย์ประเมินผู้ที่ได้คะแนนแบบสอบถามเท่ากับหรือมากกว่า 17 คะแนนทุกคน (กลุ่มผลคัดกรองบวก) และ กลุ่มที่ได้คะแนนน้อยกว่า 17 คะแนน (กลุ่มผลคัดกรองลบ) ที่สุ่มออกมาจำนวนใกล้เคียงกันส่งให้จิตแพทย์ประเมิน เพื่อให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD หรือโรคจิตอื่นรวมทั้งโรคร่วมในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (DSM-IV) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ SPSS 10.0 และรายงานผลความชุกของโรคเป็นร้อยละ ผลการศึกษา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั้งหมดจำนวน 470 คน เป็นชาย 221 คน (ร้อยละ 47) หญิง 249 คน (ร้อยละ 53) สมัครใจเข้าร่วมการวิจัยและได้ข้อมูลครบจำนวน 436 คน (ร้อยละ 92.8) พบว่ามีนักเรียนป่วยเป็นโรค PTSD จำนวน 40 คน คิดเป็นค่าความชุกของโรค PTSD ร้อยละ 15.1 และความชุกของโรค PTSD ที่มีอาการบางส่วน คิดเป็นร้อยละ 2.7 เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชาย (หญิง 30 คน ชาย 10 คน สัดส่วนหญิงต่อชายเท่ากับ 3:1) พบในนักเรียนระดับประถมศึกษามากกว่าระดับมัธยมศึกษา (ร้อยละ 25 และ 4.9 ตามลำดับ) สรุป หลังเหตุการณ์สึนามิผ่านไป 23 เดือน พบว่าความชุกของโรค PTSD ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ยังสูงถึงร้อยละ 15.1.

Keywords: PTSD, โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย, ความชุก, นักเรียน, ธรณีพิบัติภัย, สึนามิ, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Code: 20080067

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อวารสารวิชาการ

Download: