ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เพ็ญพิศ เล่าเรียนดี.

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือครอบครัวโดยการประยุกต์ใช้แนวคิดของ Virginia Satir.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 126-127.

รายละเอียด / Details:

ครอบครัวมีความสำคัญต่อการตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย และไม่ฆ่าตัวตายของบุคคล การให้คำปรึกษาครอบครัวเป็นวิธีการที่ได้ผลดีและสามารถแก้ปัญหาได้หลายประการรวมทั้งปัญหาการฆ่าตัวตาย การให้คำปรึกษาครอบครัวมีหลายวิธีแต่ในโครงการนี้สนใจการให้คำปรึกษาครอบครัวตามแนวซาเทียร์ ที่มุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัว ทำให้ครอบครัวผูกพันใกล้ชิดสนิทสนม และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งจากการดำเนินงานป้องกันกับการฆ่าตัวตายในพื้นที่ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงของจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ได้ประยุกต์ใช้แนวคิดของซาเทียร์เช่นเดียวกันและพบว่าสามารถให้การช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้นและอัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มลดลง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้จัดทำโครงการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือครอบคดรัว โดยการประยุกต์ใช้แนวคิดของ Virginia Satir สำหรับดำเนินการในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในปี 2550 คือ อำเภอขุนยวม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครอบครัวกลุ่มเสี่ยงได้เรียนรู้การแสดงอารมณ์เหมาะสม มีทักษะในการสื่อสาร การแก้ปัญหาตลอดจนเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ทำร้ายตนเอง กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการคือ ครอบครัวกลุ่มเสี่ยง จำนวน 20 คน ที่สมัครใจพิจารณาจากครอบครัวผู้ที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ ครอบครัวผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และครอบครัวผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า และภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ แบบวัดความเห็นคูณค่าในตนเองของคูเปอร์สมิท แปลเป็นไทยโย นาตยา วงศ์หลีกภัย (2532) แบบประเมินการอบรม และกิจกรรมการอบรมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือครอบครัวโดยการประยุกต์ใช้แนวคิดของซาเทียร์ โดยคณะวิทยากรจากโรงพยาบาลเชียงคำที่ผ่านการอบรมหลักสูตรซาเทียร์ ที่จัดโดยกรมสุขภาพจิต และมีประสบการณ์การทำงานภายใต้แนวคิดของซาเทียร์มานานกว่า 10 ปี วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ยเลขคณิต ผลการศึกษาพบว่าผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อายุระหว่าง 31-40 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 50.0) และประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 70.0) ส่วนการประเมินภาวะซึมเศร้า และภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายพบว่า ก่อนการอบรมมีผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จำนวน 9 ราย และหลังการอบรมไม่พบผู้มีความเสี่ยง ระดับความเห็นคุณค่าในตนเองของผู้เข้ารับการอบรมมีมากขึ้น จากค่อนข้างน้อย เป็นค่อนข้างมาก ระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 60.0 รองลงมาระดับมาก ร้อยละ 40.0 และการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 73.3 รองลงมาคือระดับมาก ร้อยละ 26.7 ผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริมสนับสนุนให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป

Keywords: การฆ่าตัวตาย, การให้คำปรึกษา, ครอบครัว, ทักษะการสื่อสาร, จิตบำบัด satir, แนวคิดของซาเทียร์ซาเทียร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: นักวิชาการสาธารณสุข 9 (ชช.) ด้านส่งเสริมพัฒนา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน.

Code: 200700020961

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: