ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชัฌฎา ลอมศรี, อุบล ก๋องแก้ว.

ชื่อเรื่อง/Title: สรุปผลการดำเนินงานโครงการเสริมปัญญาพัฒนาอีคิว อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 131.132.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล เนื่องด้วยในสภาวะปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม หรือทางการเมือง หรือปัญหาด้านอาชญากร ทุกวันนี้คนเราต้องดำเนินชีวิตด้วยความหวาดกลัว บางครั้งเกิดปัญหาขึ้นในชีวิต ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทางออกสุดท้ายคือ การฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาการฆ่าตัวตาย ถือว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของจังหวัดลำพูน และยังเป็นปัญหาที่สำคัญของอำเภอป่าซางด้วย เพราะจากสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2547-2549 ของอำเภอป่าซาง คิดเป็นอัตรา 18.05, 19.70 และ 17.65 ต่อแสนประชากร จะเห็นได้ว่าเมื่อคนเรามองว่าทางออกของปัญหาคือ การฆ่าตัวตาย ย่อมแสดงถึงคนๆ นั้น ไม่สามารถเผชิญต่อปัญหาหรือจัดการกับปัญหานั้นได้ ซึ่งอาจบ่งถึงการอบรมสั่งสอน และพื้นฐานการเลี้ยงดูของครอบครัวตั้งแต่เด็ก เพราะก่อนนี้คนเรามักชื่นชมแต่เด็กที่ฉลาด เรียนเก่ง สนับสนุนแต่เพียงด้านนี้ แต่ขาดการสนับสนุนด้านการพัฒนาอีคิว หรือความฉลาดทางอารมณ์ ทำให้พบว่าเกิดปัญหา หลายคนไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ หรือไม่สามารถยอมรับความพ่ายแพ้ของตนเองได้ จึงหาทางออกด้วยวิธีการฆ่าตัวตาย ดังนั้น ทางฝ่ายสุขภาพจิต โรงพยาบาลป่าซาง เล็งเห็นปัญหานี้จึงได้จัดทำโครงการเสริมปัญญาพัฒนาอีคิวขึ้นเป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2548-2550 เพื่อให้เด็กที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้เรียนรู้ในการเผชิญปัญหาด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสม การรู้จักตนเองและผู้อื่นและสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะได้ พร้อมทั้งให้การพัฒนาด้านเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวร่วมกันด้วย พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครูพี่เลี้ยงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กเล็ก และพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ และสามารถพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม สามารถเผชิญและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ผลการดำเนินงานโครงการเสริมปัญญาพัฒนาอีคิว ฝ่ายสุขภาพจิต โรงพยาบาลป่าซางได้จัดทำโครงการเสริมปัญญาพัฒนาอีคิว มาเป็นระยะเวลา 3 ปี ต่อเนื่องกัน คือตั้งแต่ปี 2548-2550 โดยในปี 2548 ได้มีการจัดการอบรมให้ความรู้แก่พี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็ก หลังจากนั้นได้นำร่องทำกิจกรรมกับเด็กอายุ 3-5 ปี ในศูนย์เด็กเล็ก โดยนำร่องเพียง 2 ศูนย์มีการให้ความรู้แก่พ่อ แม่ผู้ปกครอง เกี่ยวกับเรื่องความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา (ไอคิว) และความฉลาดทางเชาวน์อารมณ์ (อีคิว) ในศูนย์ที่ทำกิจกรรมนำร่อง ในการนำร่องทำกิจกรรมทั้งหมด 8 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง โดยมีการประเมินอีคิวก่อน-หลังการทำกิจกรรม ผลการประเมินพบว่าหลังการทำกิจกรรม อีคิวของเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งจากการวิเคราะห์ปัญหาพบว่า 1. ระยะเวลาการจัดอบรมพี่เลี้ยงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กน้อยเกินไปคือ เพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ และการอบรมขาดเรื่องกิจกรรมที่สามารถพัฒนาไอคิวและอีคิวได้ 2. ระยะเวลาการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองน้อยเกินไปคือ เพียง 1 ชั่วโมง และยังขาดความรู้กิจกรรมที่ผู้ปกครองสามารถนำไปพัฒนาไอคิวและอีคิวแก่เด็กได้เช่นกัน 3. ในการอบรมทั้งครูพี่เลี้ยงศูนย์เด็กและผู้ปกครอง ไม่ได้เน้นซ้ำการทำกิจกรรมของทั้ง 2 ฝ่าย อย่างต่อเนื่องมีพียงการทำกิจกรรม 8 ครั้ง จากนักจิตวิทยาเท่านั้น 4. ระยะเวลาของการประเมินผลความฉลาดทางเขาวน์ปัญญา (อีคิว) หลังการทำกิจกรรมเร็วเกินไป คือ ห่างจากก่อนทำกิจกรรมเพียง 1 เดือน ซึ่งผลที่ได้อาจยังไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาวิธีดำเนินงานในปี 2549 โดยมีการขยายโครงการเสริมปัญญาพัฒนาอีคิวในเด็กก่อนวัยเรียนสำหรับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง โดยดำเนินการร่วมกับพี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็ก โดยนำร่อง 4 ศูนย์ ใช้ระยะเวลา 1 วัน เช่นกัน เพื่อให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ไอคิว อีคิว และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาและเสริมสร้างให้เด็กมี ไอคิว อีคิวที่ดีขึ้น และเพื่อให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาไอคิวและอีคิวอย่างต่อเนื่องทั้งภายในศูนย์เด็กเล็กและที่บ้าน และมีการประเมินไอคิว อีคิว โดยใช้แบบบันทึกพฤติกรรมความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาและแบบบันทึกความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี ซึ่งจัดทำโดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ จากการดำเนินงานพบว่า 1. ครูพี่เลี้ยงเด็กเล็กมีความรู้เรื่องไอคิว อีคิวเพิ่มมากขึ้น 2. มีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาไอคิว อีคิว อย่างต่อเนื่องทั้งที่บ้านและที่ศูนย์เด็กเล็ก ทำให้การประเมินไอคิว อีคิวก่อน-หลังการทำกิจกรรมชัดเจนขึ้น ดังนั้น จึงได้จัดทำโครงการเสริมปัญญาพัฒนาอีคิวปี 2550 ขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้พี่เลี้ยงเด็กเล็กได้ผ่านการอบรมครบ 100% และจัดอบรมพ่อ แม่ผู้ปกครองโดยขยายเพิ่มอีก 5 ศูนย์เพื่อให้ครอบคลุมในเขตอำเภอป่าซางและกิ่งอำเภอเวียงหนองล่องในปีต่อๆ ไป

Keywords: การฆ่าตัวตาย, ครอบครัว, ความฉลาดทางอารมณ์, ความฉลาดทางปัญญา, พฤติกรรม, พัฒนาอีคิว ไอคิว,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: นักจิตวิทยา โรงพยาบาลป่าซาง, พยาบาลวิชาชีพ 7 โรงพยาบาลป่าซาง.

Code: 200700021258

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: