ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ, ทัปปณ สัมปทณรักษ์, เมธินี ก้อนแก้ว และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: แก่นแท้ของปัญหาและโจทย์ร่วมที่ต้องการคำตอบ? ทำร้ายตัวเองกับปัญหาการใช้สารเสพติด (หุนหันพลันแล่น, ก้าวร้าว, รุนแรง, ฉุนเฉียว).

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 121-122.

รายละเอียด / Details:

การทำร้ายตนเองนับเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ รวมทั้งระดับโลก ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่เคยมีประสบการณ์ในอดีตเกี่ยวพันกับการใช้สารเสพติดหรือสุรา ในขณะที่ทั้งสองปัญหามีเพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กัน ในโลกปัจจุบัน อะไรคือปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งสองอย่างนั้น และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันเกี่ยวข้องหรือไม่กับปัญหาเหล่านี้ แก่นแท้ของปัญหาจะนำเราไปสู่หลักการและแนวทางที่จะนำมาปรับใช้เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ต่อไปในอนาคต วัตถุประสงค์ จากการปฏิบัติงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม มีการทำประวัติอย่างละเอียดโดยเฉพาะความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสารเสพติดหรือสุราในอดีต จึงให้ความสำคัญ และพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ผู้ป่วยทำร้ายตนเองก็เคยเกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดหรือสุราในอดีต การศึกษาปัจจัยร่วมนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการป้องกันปัญหาของทั้งสองกลุ่มต่อไปในอนาคต และจะนำพาไปสู่แนวทางของการวิจัยเพื่อค้นหาแก่นแท้ ของปัญหาใหญ่ที่สำคัญทั้งสองกลุ่ม วิธีการ ศึกษารวบรวมจากกรณีผู้ป่วยทำร้ายตัวเองตั้งแต่กันยายน 2549-มิถุนายน 2550 โดยทำการสัมภาษณ์ประวัติในความเกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดหรือสุราในอดีต อีกทั้งรวบรวมวิธีการในการให้การบำบัดรักษา ทำแบบสำรวจในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้แบบคัดกรองการร้ายตนเองของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยกลุ่มทดลองคือกลุ่มที่เคยใช้สารเสพติดหรือสุราในอดีต และกลุ่มควบคุมที่ไม่เคยใช้สารเสพติดหรือสุราในอดีต และนำผลสำรวจที่ได้มาทำการประเมินผลโดย Odds Ratio ผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วย 50 ราย ใน 100 ราย ของผู้ป่วยทำร้ายตนเองเกี่ยวพันกับการใช้สารเสพติดหรือสุราในอดีต (50%) และจากการทำแบบสำรวจพบว่า กลุ่มที่มีประวัติการใช้สารเสพติดหรือสุราในอดีต เคยมีความคิดในการทำร้ายตัวเองภายใน 6 เดือน มีโอกาสเพิ่มเป็น 15 เท่ากว่าคนปกติที่ไม่มีประวัติการใช้สารเสพติดหรือสุราในอดีต บทสรุป ความน่าจะเป็นของผู้ป่วยทำร้ายตนเองมีประมาณครึ่งหนึ่ง (50%) ที่เกี่ยวข้องกับประวัติการใช้สารเสพติดหรือสุราในอดีต และมีโอกาสมากที่ผู้ป่วยเคยใช้สารเสพติดหรือสุราจะมีความคิดทำร้ายตัวเองถึงประมาณ 15 เท่า กว่าคนปกติทั่วไป สมควรที่บทบาทในการดูแลของจิตแพทย์ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และบุคลากรสาธารณสุข จะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้และให้การช่วยเหลือดูแลในเชิงป้องกันทั้งสองเรื่องไปพร้อมๆ กัน โดยให้ความสำคัญในการรักษาอาการทางจิตในผู้ป่วยที่เคยใช้สารเสพติดหรือสุรา เพื่อป้องกันปัญหาการทำร้ายตัวเอง และการซักถามถึงประวัติการใช้สารเสพติดหรือสุราในผู้ป่วยทำร้ายตนเองด้วยเพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมในระยะยาวต่อไป บทความงานวิจัยนี้ยังได้วิเคราะห์ปัจจัยร่วมของทั้งสองปัญหาคือความหุนหันพลันแล่น, ความก้าวร้าว, ความรุนแรง, อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว ซึ่งเป็นแก่นแท้ของปัญหาและโจทย์ร่วมอันนี้ มีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง โดยมีซีโรโตนินที่น้อยผิดปกติ (Serotonin) นอร์อะดรีนาลีนและโดปามีนตที่มากผิดปกติ (Noradrenaline, Dopamine) ด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมองส่วนยับยั้ง คือ สมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) และสมองส่วนอารมณ์ (Limbic system) โดยเฉพาะนิวเคลียส แอคคัมเบน (Nucleus Accumbens) และอมิกดาลา (Amygdala) ทั้งยังได้เสนอแนะแนวทางที่จะแก้ไขป้องกันกันต่อไปในอนาคตด้วย

Keywords: การทำร้ายตัวเอง, สารเสพติด, ก้าวร้าว, รุนแรง, พยายามฆ่าตัวตาย, สุรา, ความรุนแรง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต.

Code: 200700020862

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: