ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กมลรัตน์ ชัวนินี.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาการให้คำปรึกษาที่เน้นการพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรมต่อภาวะซึมเศร้าของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 119-120.

รายละเอียด / Details:

ภาวะซึมเศร้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนมีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสถิติอัตราผู้ป่วยซึมเศร้าต่อแสนประชากรในปีงบประมาณ 2545-2547 เพิ่มสูงขึ้นคือ 4.39, 30.88 และ 202.85 ต่อแสนประชากรตามลำดับ และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าดัชนีชี้วัดที่แผนพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 กำหนด จากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการฆ่าตัวตายในจังหวัดสมุทรสงครามของ ศุภรัตน์ เอกอัศวิน (2545) พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายเคยมีอาการทางจิตหรือมีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงมาก่อน รูปแบบการดูแลผู้พยายามฆ่าตัวตายของโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นั้นผู้ป่วยจะได้รับบริการให้คำปรึกษาทางจิตสังคมแล้วมีการพยายามฆ่าตัวตายซ้ำอีก เนื่องจากยังคงมีความคิดด้านลบที่ไม่มีเหตุผลต่อตนเอง และมองโลกในแง่ร้าย เมื่อพิจารณาโปรแกรมการให้คำปรึกษาทางจิตสังคมพบว่ายังขาดในเรื่องชองการปรับเปลี่ยนความคิดด้านลบที่ไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เหมาะสมของผู้ป่วยให้เป็นความคิดด้านบวก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้เกิดการปรับเปลี่ยนความคิด โดยกระบวนการช่วยเหลือที่เหมาะสม วัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือผู้พยายามฆ่าตัวตายที่มีภาวะซึมเศร้า 2) เพื่อศึกษาคะแนนภาวะซึมเศร้าของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ก่อนและหลังการให้บริการปรึกษาแบบพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม ขอบเขตของการศึกษา ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม ระเบียบวิธี เป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียว วัดก่อนและหลังการศึกษา กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ที่ได้รับการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 20 คน จากผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ซี่งมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ที่มีคะแนนภาวะซึมเศร้าตั้งแต่ 19 คะแนนขึ้นไป (ประเมินโดยแบบวัดภาวะซึมเศร้าด้วยตนเอง ทีได้พัฒนามาจาก Beck Depression Inventory และปรับปรุงเป็นภาษาไทย โดยแพทย์หญิงดวงใจ กสานติและคณะ) เครื่องมือที่ใช้ คือรูปแบบการให้คำปรึกษาที่เน้นการพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคลแบบวัดภาวะซึมเศร้าด้วยตนเอง ที่แพทย์หญิงดวงใจ กสานติและคณะ (2547) ได้แปลมาจาก Beck Depression Inventory และปรับปรุงเป็นภาษาไทย และแบบสอบถามความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง เก็บรวบรวมข้อมูล นำไปวิเคราะห์ด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนภาวะซึมเศร้า คะแนนความมีคุณค่าในตนเอง ของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ก่อนและหลังการให้คำปรึกษา โดยใช้สถิติที่ (t-test) กำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สรุปผลการศึกษา พบว่าค่าคะแนนเฉลี่ยของภาวะซึมเศร้าโดยรวมหลังการให้คำปรึกษาที่เน้นการพิจารณา เหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรมต่ำกว่าก่อนการให้คำปรึกษาที่เน้นการพิจาณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t=9.802) ข้อเสนอแนะ 1) ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้ จากผลการศึกษาทำให้ทราบว่าการให้คำปรึกษาที่เน้นการพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม สามารถปรับเปลี่ยนความคิดที่ไร้เหตุผลของผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายที่มีภาวะซึมเศร้าให้เป็นความคิดที่สมเหตุสมผล ส่งผลให้มีการตอบสนองทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เหมาะสม ลดภาวะซึมเศร้า ป้องการการฆ่าตัวตายซ้ำได้ สามารถนำไปพัฒนารูปแบบการดูแลผู้พยายามฆ่าตัวตายต่อไปได้ 2) ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป น่าจะมีการนำโปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม ไปประยุกต์ใช้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าจากสาเหตุอื่น เช่น ภาวะสูญเสียหรือวิกฤตการณ์ในชีวิตต่างๆ

Keywords: โรคซึมเศร้า, การพยายามฆ่าตัวตาย, พฤติกรรมซึมเศร้า, การให้คำปรึกษา, พฤติกรรมฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า.

Code: 200700020763

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: