ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จันทร์ทิพย์ มีชัย.

ชื่อเรื่อง/Title: ประสิทธิผลโครงการสร้างความเข้มแข็งทางใจตามแนวสติปัฏฐาน 4 ในเด็กนักเรียน อำเภอปาย.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 129-130.

รายละเอียด / Details:

ปัจจุบันอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประชากรในพื้นที่อำเภอปาย ปีงบประมาณ 2549 เท่ากับ 34.2 : 100,000 ประชากร ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดเป้าหมายให้ไม่เกิน 6.8:100,000 ประชากร และจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าประชากรอายุ 15-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จและไม่สำเร็จมากที่สุด และผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายน้อยที่สุดคืออายุ 9 ปี เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอปายได้พยายามหารูปแบบ วิธีการ เพื่อลดปัญหามาโดยตลอดแต่ยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร และจากแนวคิดที่ว่า ถ้ามนุษย์มีความเข้มแข็งทางใจ จะสามารถปรับตัวได้ดี ในทุกสถานการณ์ จากการศึกษา พบว่าการฝึกสติปฏฐาน 4 สามารถทำให้จิตมีพลัง เข้มแข็งสามารถขจัดปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอปายจึงได้จัดทำโครงการสร้างความเข้มแข็งทางใจตามแนวสติปัฏฐาน 4 ในเด็กนักเรียน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียน 1. มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับสติปัฏฐาน 4 2. ได้รับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม 3. มีความเข้มแข็งทางใจสามารถขจัดอารมณ์เครียดได้อย่างเหมาะสม 4. ลดภาวะซึมเศร้า และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และ 5. ลดพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของประชากร อ.ปายในระยะยาว โดยขั้นตอนในการอบรม เริ่มจากวันแรก จะมีการปฐมนิเทศ ต่อด้วยการฝึกสติปัฏฐาน 4 โดยเริ่มจาก ฝึก 1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในอิริยาบถใหญ่ คือ ยืน-เดิน-นั่ง-นอน เพื่อให้รู้กายในกาย พร้อมทำพิธีรับศีล วันที่ 2 ของการอบรมจะฝึก 2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ ฝึก 3. จิตนุปัสสนาสติปัฏฐานโดยแยกเป็น 3 บัลลังก์คือ บัลลังก์ที่ 1 เป็นบัลลังก์ปฏิบัติให้ตนเอง คือเดินจงกรม 15 นาที นั่งสมาธิ 30 นาที บัลลังก์ที่ 3 เป็นบัลลังก์กตัญญูต่อบิดามารดา คือเดินจงกรม 45 นาที และนั่งสมาธิ 45 นาที และฝึก 4. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อให้รู้กุศล-อกุศล พร้อมกับทำพิธีอโหสิกรรม และวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการอบรม จะเป็นการฝึกสติจากพิธีรับมอบวุฒิบัตร โดยผู้รับการอบรมจะทำเวลาในการรับให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด คณะทำงานได้ทำการประเมินประสิทธิผลของโครงการ โดยการสุ่มตัวอย่างจาก เด็ก นักเรียน แบบเจาะจง เป็นเด็กนักเรียนทั้งหมด จำนวน 2,661 คน และนักเรียนมัธยมจำนวน 894 คน ครู จำนวน 123 คน และพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กนักเรียน จำนวน 300 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสังเกตแบบตรวจสอบรายการ (Chek List) แบบสอบถามปลายเปิด แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า แบบคัดกรองความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และรายงาน การฆ่าตัวตายของอำเภอ ตัวชี้วัดในการประเมินประสิทธิผลครั้งนี้คือ นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสติปัฏฐาน 4 ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 มีการจัดการความเครียดด้วยวิธีการที่เหมาะสมหลังอบรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 ความสำเร็จของการจัดการกับอารมณ์ความเครียดด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 มีภาวะซึมเศร้า และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายลดลงร้อยละ 10 และประชาชนอำเภอปายมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่เกิน 6.8:1000,000 ประชากร ผลการประเมินโครงการสร้างความเข้มแข็งทางใจตามแนวสติปัฏฐาน 4 ในเด็กนักเรียน อ.ปาย พบว่า ตัวชี้วัดที่ผ่านเกณฑ์คือ ตัวชี้วัดในเรื่อง การมีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับ สติปัฏฐาน 4 (ร้อยละ 96.6) ทักษะในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ได้ถูก (ร้อยละ 96.6) การได้รับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม (ครอบคลุม ร้อยละ 100) มีการนำคุณธรรม จริยธรรม ไปใช้ในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 99.1) มีการจัดการความเครียดด้วยวิธีการที่เหมาะสมหลังอบรมเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 10.1) มีความสำเร็จในการจัดการความเครียดด้วยวิธีการที่เหมาะสมหลังอบรมเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 48.4) มีภาวะซึมเศร้าหลังอบรม 6 เดือน ลดลง (ร้อยละ 12.6) มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหลังอบรม 6 เดือน ลดลง (ร้อยละ 13) สำหรับตัวชี้วัดที่ไม่ผ่านเกณฑ์คือ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประชาชน อ.ปาย (33.9:100,000 ประชากร)

Keywords: สติปัฏฐาน 4, การฆ่าตัวตาย, ความเข้มแข็ง, พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย, การจัดการความเครียด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: นักวิชาการสาธารณสุข 6 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน.

Code: 200700021159

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: