ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พัชรี คำธิตา และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำครอบครัว เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 109-110.

รายละเอียด / Details:

ครอบครัวเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับท้องถิ่น ระดับภาคเหลือระดับประเทศ ถ้าหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม มีความผาสุก บุคคลในครอบครัวเป็นคนดี มีความเฉลียวฉลาด มีศีลธรรมจรรยา มีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน และมีความเอื้อเฟื้อต่อสังคม จะทำให้สังคมและประเทศชาตินั้นๆ เป็นสังคมที่มีความพอเพียงและอยู่เย็น เป็นสุข ในปัจจุบันสถาบันครอบครัวมีแนวโน้มไปในทางที่เสื่อมคลาย จะเป็นด้วยเราไม่ตระหนักถึงความสำคัญของบ้านและครอบครัว หรือจะเป็นเพราะสภาวะแวดล้อม สภาวะเศรษฐกิจ สังคมบีบคั้น เร่งรัดเรามากจนเกินไป จึงทำให้เราให้ความสำคัญกับครอบครัวน้อยลง ให้เวลาแก่กันน้อยลง พูดคุยกันน้อยลง ให้จิตใจให้ความสนใจกันน้อยลง ให้ความรักและเมตตาปราณีกันน้อยลง ทำให้บรรยากาศในครอบครัว เกิดสภาพอึมครึม อึดอัด ขัดแย้ง หงุดหงิด คับข้องใจ ภายในครอบครัวมากขึ้น นำไปสู่ความร้าวฉาน แตกแยก ส่งผลให้บุคคล ครอบครัว ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุข หรือไม่สามารถปรับตัวต่อสภาพความกดดัน และสิ่งแวดล้อมได้เท่าที่ควร ในที่สุดก็จะทำให้สุขภาพจิตไม่ดี และสุดท้ายมักจะลงมือแก้ไขด้วยการทำร้ายตนเอง การพัฒนาศักยภาพแกนนำครอบครัว เป็นการพัฒนาระบบสุขภาพที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิต และยกระดับคุณภาพของจิตใจให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุข เสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ พร้อมที่จะเผชิญ หลีกเลี่ยงหรือขจัดปัญหาที่จะมากระทบกระเทือนจิตใจ โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาที่เกิดจากความรู้สึกร่วมของคนในชุมชนที่ต้องการร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นในลักษณะองค์รวมและยั่งยืน วัตถุประสงค์ 1) พัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพผู้นำ แกนนำครอบครัว ให้สามารถประเมินคัดกรองภาวะสุขภาพจิตระดับครอบครัวและชุมชน 2) เพื่อให้ผู้นำ แกนนำครอบครัว สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยลดความรุนแรงและความขัดแย้งในครอบครัว ชุมชน อันจะนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย 3) เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดกิจกรรม/แผนงานหรือโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมสุขภาพจิตคนในชุมชน ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และสภาพปัญหาที่แท้จริง วิธีการ 1) ทำการสนทนากลุ่ม เพื่อซักถามปัญหาสุขภาพจิตและความต้องการการพัฒนาของชุมชน 2) นำข้อมูลที่ได้ จัดทำแผนการฝึกอบรมและแนวทางการดำเนินงาน 3) จัดอบรมแกนนำครอบครัว หมู่บ้านละ 10 คน 69 หมู่บ้าน รวม 690 คน (แบ่งเป็น 8 รุ่น) โดยใช้กระบวนการ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ 3.1) ประเมินผลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตก่อน-หลังการอบรม 3.2) ประเมินระดับความเครียด และวัดระดับความสุข ก่อนเข้ารับการอบรม 3.3) ประเมินผลความพึงพอใจในการเข้ารับการอบรม 4) ทำแผนงาน/โครงการสู่การปฏิบัติในชุมชน 5) ติดตามผลการปฏิบัติงานในชุมชน 6) ประเมินความเครียดและวัดระดับความสุขแกนนำครอบครัว หลังการอบรม 3 เดือน 7) สรุปบทเรียน/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผลที่ได้รับ 1) แกนนำครอบครัวสามารถจัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของชุมชน 2) แกนนำครอบครัวสามารถถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ชุมชน 3) อัตราการพยายามฆ่าตัวตาย และฆ่าตัวตายสำเร็จในพื้นที่ลดลง บทเรียนที่ได้รับ ในการพัฒนากระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ต้องเริ่มจากชุมชนซึ่งถือว่าเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหาของเขาเอง ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ โดยเน้นระบบการบริการให้ชุมชนมีส่วนร่วม อันจะส่งผลให้ชุมชนมีกระบวนการจัดการปัญหาสุขภาพ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

Keywords: สุขภาพจิต, ครอบครัว, การพัฒนาศักยภาพ, แกนนำครอบครัว, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลแม่ทา จังหวัดลำพูน.

Code: 200700020170

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: