ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปัญจรัตน์ ศรีสว่าง

ชื่อเรื่อง/Title: ประเมินผลการใช้มาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดสุรา.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 170.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้ เพื่อประเมินขั้นตอนการดำเนินการใช้และผลลัพธ์ของการใช้มาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดสุรา ในสถาบันธัญญารักษ์ รวมถึงศึกษาปัญหาและอุปสรรคมาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดสุรา ได้ถูกนำมาดำเนินการในหอผู้ป่วยเสพติดสุราระยะบำบัดด้วยยา ผู้ป่วยเสพติดสุราจำนวน 65 ราย ได้รับการพยาบาลตามมาตรฐาน ญาติผู้ป่วยเสพติดสุราที่มาเยี่ยมผู้ป่วยในหอผู้ป่วยบำบัดยา จำนวน 49 ราย พยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมการใช้มาตรฐานฯ และปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยที่ดูแลผู้ป่วยเสพติดสุรา จำนวน 48 ราย ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2548 เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถามผู้ป่วยเสพติดสุรา แบบสอบถามญาติผู้ป่วยเสพติดสุรา แบบสอบถามพยาบาลวิชาชีพ และแบบบันทึกรายงานอุบัติการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา จำนวน ร้อยละ คะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ. ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยเสพติดสุราส่วนใหญ่เพศชาย (89.7%) อายุ 31-40 ปี (42.6%) สถานภาพสมรส (44.1%) ศาสนาพุทธ (91.2%) จบการศึกษาระดับประถมศึกษา (39.7%) อาชีพรับจ้าง รายได้ ‹5,000บาท/เดือน (38.2%) รายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายภายในครอบครัว มีสมาชิกในครอบครัว 4-6 คน ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษาครั้งที่ 1-2 ด้านความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อบริการทางการพยาบาลอยู่ในระดับดี (82.3%) ด้านการใช้วิธีการเผชิญความเครียดพบอยู่ในระดับน้อย ญาติผู้ป่วยเสพติดสุราส่วนใหญ่เพศหญิง (74.4%) อายุ 41-50 ปี (33.3%) สถานภาพสมรสคู่ (66.7%) ศาสนาพุทธ (97.6%) จบการศึกษาระดับประถมศึกษา (31.0%) ญาติเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเป็นพี่น้อง อยู่ร่วมกับผู้ป่วยนาน 11-14 ปี (34.1%) มีสมาชิกในครอบครัว 4-6 คน อาชีพรับจ้าง รายได้ 5,001-10,000 บาท/เดือน (35.7%) เพียงพอต่อการใช้จ่ายภายในครอบครัว ญาติไม่เคยได้รับความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยเสพติดสุรามาก่อน ด้านความพึงพอใจของญาติต่อการรับบริการพยาบาลอยู่ในระดับดี (83.4%) พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่เพศหญิง (89.6%) อายุ 26-30 ปี (32.2%) การศึกษาระดับปริญญาตรี/เทียบเท่า (89.6%) รายได้เฉลี่ย 10,001-15,000 บาท/เดือน พักอยู่ในบ้านพักของสถาบันฯ ทำงานแบบเวรผลัด/เวรล่วงเวลา ประสบการณ์ทำงาน 1-10 ปี (59.6%) ด้านความพึงพอใจต่อการใช้มาตรฐานฯ อยู่ในระดับปานกลาง ด้านอุบัติการณ์พบการเกิดอุบัติเหตุที่สามารถป้องกันได้จำนวน 8 ครั้ง (ไม่เกิน 20 ครั้ง/4เดือน) ด้านนภาวะทุพโภชนาการพบ 14.58% (ไม่เกิน 15%) การติดเชื้อของผู้ป่วยพบ 2.27 ครั้ง/1000 วันนอน (ไม่เกิน 5 ครั้ง/1000 วันนอน) การจำหน่ายผู้ป่วยผ่านเกณฑ์การประเมิน พบ 83.49% (ไม่ต่ำกว่า 60%) ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการวิจัย ในช่วงเวลาที่ดำเนินการวิจัยไม่ค่อยมีผู้ป่วยเสพติดสุราเข้ารับการบำบัดรักษาภายในสถาบันฯ ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างน้อยกว่าที่กำหนด.

Keywords: ประเมินผล, มาตรฐานการพยาบาล, ผู้ป่วยเสพติดสุรา, สารเสพติด, สุรา, เหล้า, ความเครียด, บริการทางพยาบาล, บำบัดยาเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: -

Code: 200800155

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: