ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดุษฎี อายุวัฒน์

ชื่อเรื่อง/Title: แรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา กรณีศึกษาหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 170.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. มิติทางสุขภาพและสังคมของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา 2. ผลกระทบทางสุขภาพและสังคมของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา และ 3. ชุมชนกับการจัดการสุขภาพของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา วิธีการศึกษา ใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลกับประชากรเป้าหมายแรงงานอ้อยที่อยู่ในพื้นที่วิจัย ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2550-สิงหาคม 2550 รวม 8 เดือน วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้เทคนิควิธีการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า ผลการศึกษา พบว่าครอบครัวในชุมชนแห่งนี้ ร้อยละ 95 เป็นแรงงานอ้อย และร้อยละ 87 ดื่มสุรา เมื่อแบ่งตามกระบวนการผลิต สามารถแบ่งงานแรงงานอ้อย ได้เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) แรงงานปลูกอ้อย 2) แรงงานบำรุงรักษาอ้อย (แรงงานดายหญ้า และใส่ปุ๋ย, แรงงานพ่นยากำจัดวัชพืช) 3) แรงงานเก็บเกี่ยวอ้อย (แรงงานตัดอ้อย, แรงงานขึ้นอ้อย) และ 4) แรงงานส่งอ้อยเข้าโรงงาน 1. ด้านมิติทางสุขภาพและสังคมของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา พบว่า แรงงานชายนิยมดื่มสุราขาว แรงงานหญิงและเด็ก นิยมดื่มเบียร์ แรงงานที่มีค่าใช้จ่ายในการดื่มสุรามากที่สุด คือ แรงงานพ่นยากำจัดวัชพืช คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ต่อวัน แรงงานหญิงที่ส่วนใหญ่ตัดอ้อย ดื่มสุรามากขึ้น เพราะมีรายได้จากการทำงาน เช่นเดียวกับแรงงานเด็ก อายุ 13 ปีขึ้นไป ในช่วงปิดเทอม ที่ส่วนใหญ่ตัดอ้อย ดื่มสุรามากขึ้น เพราะสามารถหาเงินได้เอง นอกจากนั้น ลักษณะงานที่ทำงานทั้งวันทั้งคืนอย่างแรงงานขึ้นอ้อย เอื้อต่อการดื่มสุราเพราะเถ้าแก่อ้อยให้สุราดื่ม เพื่อกระตุ้นการทำงาน 2. ด้านผลกระทบทางสุขภาพและสังคมของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา พบว่าแรงงานที่ทำงานหนัก และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการดื่มสุรา มากที่สุดคือ แรงงานพ่นยากำจัดวัชพืช ซึ่งเชื่อว่า ดื่มสุราก่อนทำงานเพื่อกันยาพ่น ระหว่างทำงานดื่มสุรา เพราะสามารถยกน้ำหนักของถังพ่นได้ง่าย และดื่มสุราหลังจากการทำงาน เพราะแก้ยาพ่น ด้านชุมชนกับการจัดการสุขภาพของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา พบว่า ชุมชนยังไม่มีบทบาทและกลไกในการจัดการสุขภาพของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุราในปัจจุบัน สรุป ชุมชนควรมีการเฝ้าระวัง รวบรวมข้อมูลปัญหา และผลกระทบของการแรงงานอ้อยกับการดื่มสุราที่เกิดขึ้นกับแรงงาน ด้านเจ้าของงานหรือเถ้าแก่อ้อย ควรมีมาตรการในการควบคุมการดื่มสุรา และการใช้อุปกรณ์ในการป้องกันตนเองในขณะทำงาน ด้านหน่วยงานสาธารณสุข ควรมีบทบาทในการดูแลสุขภาพแรงงานอ้อย และนำข้อมูลที่ได้จัดกิจกรรมปฏิบัติการเพื่อจัดการสุขภาพของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา.

Keywords: สุรา, แรงงานอ้อย, สุขภาพ, ครอบครัว, สังคม, ภาคอิสาน, ดื่มสุรา, เหล้า, ชุมชน, แรงงาน, เบียร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: ประชากรศึกษา

Code: 200800153

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: