ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิทักษ์ สุริยะใจ

ชื่อเรื่อง/Title: การสนับสนุนทางสังคมกับการหยุดดื่มของผู้ติดสุรา.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 160.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาลักษณะการสนับสนุนทางสังคม ด้านอารมณ์ อาชีพ วัตถุสิ่งของ การเงิน ข้อมูลข่าวสาร และมาตรการชุมชน รวมถึงการเข้าถึงสุราในชุมชน จากสมาชิกในครอบครัว เพื่อนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน และองค์กรที่เกี่ยวข้องในชุมชน และหาความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคม กับระยะเวลาการหยุดดื่มสุรา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดสุราที่เคยผ่านการบำบัดรักษาสุราจากสถานบำบัด และเข้ามารับการบำบัดรักษาสุราซ้ำ ณ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด เชียงใหม่ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนกรกฎาคม 2550 จำนวน 82 คน เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ทดสอบความสัมพันธ์ด้วยตัวแบบการถดถอยเชิงอันดับ (Ordinal Regression Model) และเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดรักษาสุราจากศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดเชียงใหม่ จำนวน 6 คน รวมถึงครอบครัว เพื่อนใกล้ชิด เพื่อนบ้าน คนที่เลิกดื่มสุรา และองค์กรที่เกี่ยวข้องในชุมชน รวม 21 คน โดยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis) ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างได้รับการสนับสนุนด้านอารมณ์เป็นอย่างมากในเรื่องการแสดงความยินดี การได้รับกำลังใจ และการแสดงความห่วงใย ด้วยการดูแลเอาใจใส่ แสดงความมั่นใจ เชื่อใจ และคำพูดที่แสดงถึงความห่วงใยในเรื่องสุขภาพเป็นหลัก การสนับสนุนด้านอาชีพ วัตถุสิ่งของ และการเงิน มีในสัดส่วนต่ำกว่าการสนับสนุนด้านอารมณ์ การสนับสนุนดังกล่าวมาจากคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ในกลุ่มที่ทำงานประจำได้รับการสนับสนุนด้านอาชีพจากเพื่อนร่วมงาน และผู้บังคับบัญชาอยู่บ้าง กลุ่มตัวอย่างได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องโทษ พิษภัย ผลกระทบจากการดื่มสุรา แหล่งให้ความช่วยเหลือในการเลิกดื่ม จากสื่อประชาสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มเพื่อนใกล้ชิดยังมีความสัมพันธ์ที่ดี มีการพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป ไม่จริงจังกับการสนับสนุนให้หยุดดื่ม แต่กลุ่มเพื่อนที่ดื่มยังมีการชักชวนให้ดื่มสุราโดยเหตุผลว่า "ลองใจ" เพื่อนบ้านส่วนใหญ่จะไม่ได้พูดแนะนำสั่งสอนด้วยเหตุผลที่ว่า "การเลิกดื่มสุรามันอยู่ที่ใจ" และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์ ลด ละ เลิก สุราในชุมชน แต่มักร่วมงานประเพณีในชุมชน และมักดื่มสุราในงานดังกล่าว ในชุมชนมีทั้งแหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย และการซื้อสุราเงินเชื่อ ยังไม่พบว่ามีองค์กร หรือชุมชนใดที่มีมาตรการในการส่งเสริมให้มีการลด ละ เลิกการดื่มสุราที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จากการวิเคราะห์ตัวแบบการถดถอยเชิงอันดับ พบว่าการสนับสนุนด้านอารมณ์มีอิทธิพลต่อระยะเวลาการหยุดดื่มสุราอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value‹0.05) โดยมีความถูกต้องในการพยากรณ์ ร้อยละ 37.8. ผลการศึกษาในครั้งนี้บุคลากรสาธารณสุข สามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา ส่งเสริมให้บุคคลใกล้ชิด ชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการสนับสนุนทางสังคมและหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนความคิดของบุคคลรอบข้าง และชุมชนในการช่วยกันดูแลผู้ติดสุราเพื่อให้คงระยะเวลาการหยุดดื่มต่อไปให้นานที่สุด.

Keywords: การสนับสนุนทางสังคม, การหยุดดื่มสุรา, ผู้ติดสุรา, สุรา, เหล้า, ติดสุรา, เลิกเหล้า

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต

Code: 200800149

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: