ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: โสภิดา ดาวสดใจ

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาผู้ดื่มสุราในหน่วยบริการปฐมภูมิ จังหวัดขอนแก่น.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 158.

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดบริการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ดื่มสุราในศูนย์สุขภาพชุมชน รวมทั้งสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ดื่มสุราในชุมชน เป็นการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ศึกษานำร่อง 2 พื้นที่ ในศูนย์สุขภาพตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และศูนย์สุขภาพชุมชนศรีมงคล อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการศึกษาในเดือนมีนาคม ถึงตุลาคม พ.ศ. 2550 การดำเนินงานมี 3 ระยะ ระยะที่ 1 เตรียมการและพัฒนาบุคลากรโดยประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) และผู้นำชุมชนในการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ดื่มสุราในชุมชน พัฒนาคู่มือการบำบัดรักษาผู้ดื่มสุราใน PCU คู่มือการดูแลผู้ป่วยสุราของศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่น ศึกษาดูงานและจัดเตรียมคลินิก ระยะที่ 2 ดำเนินการ ค้นหา คัดกรอง บำบัดและส่งต่อผู้ดื่มสุรา โดยใช้แบบประเมินพฤติกรรมดื่ม คัดกรองแยกประเภทในกลุ่มที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ (Alcohol Abuse) รับการบำบัดใน PCU และส่งต่อในกลุ่มที่ติดสุรา (Alcohol Dependence) การตรวจสุขภาพ การเยี่ยมบ้านและการให้คำปรึกษาครอบครัว (Family health education) เป็นกิจกรรมเสริม ระยะที่ 3 ดำเนินการติดตามเยี่ยมบ้านหลังการบำบัดและจัดกิจกรรมเสริมได้แก่ จัดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน การเยี่ยมให้กำลังใจโดยผู้นำชุมชนและญาติผู้ใกล้ชิดเป็นกิจกรรมเสริม. ผลการวิจัยพบว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนและผู้นำชุมชนผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 4 คน และ 26 คน ตามลำดับ เกิดเครือข่ายการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ดื่มสุรา จำนวน 26 เครือข่าย รวมสองตำบล จำนวน 4,925 หลังคาเรือน ค้นหาและคัดกรองผู้ดื่มสุรา จำนวน 31 คน ชาย 20 คน หญิง 11 คน อายุเฉลี่ย 45 ปี ดื่มสุราเฉลี่ย 15 ปี ชนิดสุราที่นิยมดื่ม สุราขาว ปริมาณที่ดื่มเฉลี่ย 1 กั๊กขึ้นไปถึง 2 ขวดต่อวัน ให้การบำบัดที่ PCU โดยการสร้างแรงจูงใจในการเข้ารับการบำบัดตามคู่มือ ร่วมกับการจัดกิจกรรมเสริมอย่างน้อย 4 ครั้ง/คน จำนวน 29 คน ส่งต่อศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด 2 คน จากการติดตามประเมินทุกคนภายใน 2 เดือนหลังบำบัด พบว่า หยุดดื่ม 9 คน ลดปริมาณการดื่ม 22 คน และจัดกิจกรรมเสริมหลังการบำบัด จำนวน 10 ครั้ง ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การจัดบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ดื่มสุราในศูนย์สุขภาพชุมชน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ 3 ระยะ สามารถดูแลผู้ดื่มสุราในชุมชนให้หยุดดื่ม และลดปริมาณการดื่มได้ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการลด ละ เลิกสุราในชุมชน ประเด็นสำคัญ ควรสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อส่งเสริมให้ผู้ดื่มสุราหยุดดื่มได้อย่างยั่งยืน และนำรูปแบบไปใช้ในศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งหนึ่ง เพื่อพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ดื่มสุราให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน.

Keywords: ผู้ดื่มสุราเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ, ผู้ติดสุรา, หน่วยบริการปฐมภูมิ, แนวทางการบำบัดรักษาผู้ดื่มสุรา, สุรา, เหล้า

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่น

Code: 200800148

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: