ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กมลทิพย์ ขลังธรรมเนียม

ชื่อเรื่อง/Title: เส้นทางการเข้าสู่น้ำเมาของเด็กวัยรุ่นในบริบทสังคม วัฒนธรรมอีสาน กรณีศึกษาชุมชนชานเมือง จังหวัดขอนแก่น.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 147.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเส้นทางการเข้าสู่น้ำเมาของเด็กวัยรุ่นในบริบทสังคมวัฒนธรรมอีสาน วิธีการวิจัย วิจัยเชิงคุณภาพผู้ให้ข้อมูลหลักคือ เด็กวัยรุ่น และประชาชนในชุมชนชานเมือง จ.ขอนแก่น เก็บข้อมูลด้วยการสังเกต สัมภาษณ์เจาะลึก และบันทึกภาคสนามวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการ content analysis ผลการศึกษา เด็กวัยรุ่นมีเส้นทางเข้าสู่น้ำเมา คือ 1. ตัวของเด็กวัยรุ่น กลุ่มเพื่อนและครอบครัว เป็นผู้ชักนำเข้าสู่เส้นทางน้ำเมา เด็กวัยรุ่นเป็นวัยอยากรู้อยากลอง เชื่อเพื่อน มักถูกชักจูงให้ลองดื่ม ด้วยวิธีการเชื้อเชิญ "เป็นเพื่อนกัน ต้องดื่ม, ลองดื่ม, ดีนะ" หรือท้าทาย "ไม่ดื่มอ่อนไม่กล้า" หรือข่มขู่ "ไม่ดื่ม ไม่รับเข้ากลุ่ม ไม่ต้องมาเป็นเพื่อนกัน" ซึ่งเด็กมักจะไม่สามารถปฏิเสธเพื่อนได้ ส่วนครอบครัวพบว่าบิดามารดาเป็นตัวผลักดันและป้อนน้ำเมาให้เด็กได้ลองดื่ม 2. งานบุญหมอลำ จุดเชื่อมไปสู่การเริ่มดื่มเด็กวัยรุ่นๆ จากหมู่บ้านอื่นจะรวมกลุ่มกันที่บ้านเพื่อนที่มีหมอลำ 3. วันพิเศษ เช่น วันเกิด จบการศึกษา ต้องฉลองด้วยการดื่มเหล้า วันเหล่านี้เป็นวันที่เด็กรู้สึกว่าตนเองโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นเครื่องดื่มที่ใช้เพื่อการฉลองต้องเป็นเหล้าไม่ใช้น้ำอัดลม 4. หอพัก บ้านเพื่อน ร้านค้านอกหมู่บ้านเป็นแหล่งรวมกลุ่ม มั่วสุ่ม ดื่มเหล้า เพราะเป็นสถานที่ที่มิดชิด สามารถหลบผู้คนไม่ให้พบเห็นหรือนำข้อมูลไปบอกบิดามารดาหรือญาติของตนเองได้ 5. รุ่นพี่ (หัวโจกหมู่บ้าน) ป้อนน้ำเมาเข้าสู่รุ่นน้อง (ลูกน้อง) รุ่นน้อง (ลูกน้อง) ที่เข้ามาร่วมแก็งค์ มักจะเกรงกลัวอิทธิพลของรุ่นพี่ เมื่อรุ่นพี่ชักชวนหรือให้ลองดื่มเหล้า ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง 6. เหล้าขาว เบียร์ เป็นชนิดแรกที่เด็กวัยรุ่นได้ดื่ม โดยเฉพาะเบียร์เพราะดื่มง่าย ราคาถูกกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ บทสรุป จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าเด็กวัยรุ่นเข้าสู่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หลากหลายเส้นทาง ทั้งตัวเด็กวัยรุ่นเองที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจเข้าสู่การดื่ม โดยมีสิ่งแวดล้อมอย่างครอบครัว เพื่อน และสภาพของชุมชน งานบุญประเพณี ที่เอื้อให้เด็กวัยรุ่นเข้าสู่การดื่ม ดังนั้นหน้าที่สาธารณสุข ครอบครัว และชุมชนควรที่จะทำความเข้าใจกับบริบทสังคมวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตของเด็กวัยรุ่น และหาแนวทางการป้องกันการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กวัยรุ่นร่วมกัน.

Keywords: สุรา, เหล้า, วัยรุ่น, วัฒนธรรม, ดื่มสุรา, เบียร์, แอลกอฮอล์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 200800142

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: