ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บัณฑิต ศรไพศาล

ชื่อเรื่อง/Title: การควบคุมปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย: สถานการณ์ปัจจุบันและก้าวต่อไป.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 141.

รายละเอียด / Details:

การดำเนินการควบคุมปัญหาสุรามีการดำเนินการเรื่อยมา ตั้งแต่การออกมาตรการแรกคือ พ.ร.บ.สุรา 2493 โดยกระทรวงการคลัง ควบคุมการผลิต การนำเข้า การขนส่ง และการจำหน่าย และต่อ การดเนินการเพื่อควบคุมปัญหาสุราก้าวกระโดดอย่างมากเมื่อมีการก่อตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมมุขภาพ (สสส.) ในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่สำคัญที่ได้เงินมาจากภาษีสรรพสามิตเหล้าและบุหรี่ จึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะลดผลกระทบจากการบริโภคเหล้าและบุหรี่ อีกทั้ง สสส. ได้ใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา (ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี) ที่เป็นยุทธศาสตร์สำหรับการขับเคลื่อนสังคมในการแก้ไขปัญหายากๆ ของประเทศ อันประกอบด้วยการบูรณาการการทำงาน 3 พลังที่สำคัญหนุนเสริมกัน คือ (1) พลังความรู้ (2) พลังภาครัฐ (การเมืองและราชการ) และ (3) พลังประชาชน จนเป็นผลให้ช่วงระหว่างปี 2545-2549 มีการกำหนดนโยบายเพื่อควบคุมปัญหาสุราถึง 8 นโยบายในเวลา 4 ปี หรือ คิดเป็น 2 นโยบายต่อไป ขณะที่ช่วงระหว่างปี 2493-2543 มีนโยบายเพื่อควบคุมปัญหาสุราเพียง 6 นโยบายในเวลา 50 ปี หรือคิดเป็นประมาณ 8 ปีต่อ 1 นโยบาย หรือคิดเป็นอัตราการกำหนดนโยบายเพิ่มขึ้นเป็น 16 เท่า หลังการกำเนิด สสส. ปัจจุบันการดำเนินการพัฒนามาตรการเพื่อควบคุมปัญหาสุราอย่างจริงจังในระยะเริ่มต้นของประเทศไทยนี้ได้ใช้กรอบแนวคิดที่องค์กรอนามัยโลกและธนาคารโลกเสนอไว้ ได้แก่ มาตรการทางภาษีมาตรการจำกัดการเข้าถึง มาตรการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขาย มาตรการควบคุมการดื่มแล้วขับ มาตรการรณรงค์และให้การศึกษา และมาตรการบำบัดรักษา. การดำเนินการที่เห็นชัดเจนที่สุดในปี 2550 คือ การผลักดัน พ.ร.บ.ฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ การตั้งคณะกรรมการระดับชาติ, การจำกัดการเข้าถึง (โดยกลไกการกำหนดพื้นที่ห้ามจำหน่าย/ดื่ม เวลาห้ามจำหน่าย และอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะซื้อ) และการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขาย โดยการพิจารณารับหลักการในวาระที่หนึ่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 28 มีนาคม 2550 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 98 คน ไม่เห็นด้วย 34 คน งดออกเสียง5 คน ไม่ลงคะแนนหรือไม่มาประชุม 105 คน และได้มีการตั้งอนุกรรมาธิการวิสามัญหนึ่งคณะพิจารณาในรายละเอียด โดยมีการประชุมทุกวันศุกร์ (โดยประมาณ) จนเสร็จสิ้นในวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2550 ขณะที่เขียนบทคัดย่อนี้ (26 ตุลาคม 2550) กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการการบรรจุร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่สอง ซึ่งจะมีการพิจารณาในวาระที่สองและสามต่อไป มาตรการที่น่าจะดำเนินการต่อไปในปี 2551-2552 คือ มาตรการจำกัดจุดจำหน่ายโดยกลไกใบอนุญาตจำหน่าย (เป็นหนึ่งมาตรการจำกัดการเข้าถึง), มาตรการทางภาษีโดยปรับระบบภาษีเป็นวิธีคิดภาษีผสมทั้งสองวิธี (วิธีคิดภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์บวกด้วยวิธีคิดภาษีตามมูลค่าราคาขาย) และให้อัตราภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ปรับตามเงินเฟ้อทุกปี การศึกษาวิจัยที่ควรดำเนินการต่อไปในปี 2551-2552 ได้แก่ 1. การศึกษาวิจัยเพื่อการติดตามประเมินประสิทธิผลของนโยบายและมาตรการต่างๆ รวมถึงการประเมินผลพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์การบริโภคและผลกระทบจากการบริโภคและกลุ่มเสี่ยงต่อการบริโภคที่มีแนวโน้มอันตราย 3. การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังกลยุทธ์การตลาดและผลกระทบต่อการบริโภคของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4. การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนามาตรการลดอันตรายจากการบริโภคโดยตรง เช่น มาตรการลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถูกกฎหมายสำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะเท่ากับศูนย์(ดื่มขับ), มาตรการตรวจจับดื่มแล้วขับอย่างเป็นระบบ, มาตรการลดความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่ม, มาตรการลดความรุนแรงในวัยรุ่นจากการดื่ม 5. การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับให้กฎหมาย 6. การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนามาตรการทางสังคมในชุมชน 7. การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาการรณรงค์และการศึกษาเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและเยาวชน 8. การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนามาตรการบำบัดรักษาผู้ที่มีแนวโน้มที่จะดื่มแบบมีปัญหาและผู้ติดสุรา ขอเชิญชวนนักวิชาการและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่มีความสนใจร่วมผลิตงานทางวิชาการเพื่อการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาร่วมกันทำงานที่ท้าทายนี้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เพื่อประกอบสามเหลี่ยมไปเขยื้อนภูเขาน้ำเมาให้สำเร็จ เพื่อให้ผู้ดื่มลดการก่ออันตรายต่อตนเองและผู้อื่น และเพื่อคุ้มครองผู้ไม่ดื่มซึ่งมีสิทธิ์ที่จะมีความสุขและปลอดภัยในสังคมนี้เช่นกัน.

Keywords: สุรา, แอลกอฮอล์, การควบคุม, การส่งเสริมการขาย, การรณรงค์, ปัญหาสุรา, เหล้า, นโยบาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา

Code: 200800141

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: