ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จุไร ทัพวงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาทบทวนประวัติระบบภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮล์ในต่างประเทศ.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 127.

รายละเอียด / Details:

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดามีฤทธิ์เสพติดและก่อให้เกิดผลกระทบจากการบริโภคมากมายไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้หลายมาตรการร่วมกันในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรการทางด้านภาษีจัดว่า เป็นมาตรการหน้าที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการบริโภค ซึ่งแต่ละประเทศมีประวัติของการกำหนดนโยบายและมาตรการ ภาษีที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็นและความเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศนั้นๆ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติระบบภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของต่างประเทศ และศึกษานโยบายตลอดจนมาตรการภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันของต่างประเทศ วิธีการวิจัยใช้การสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมิของประเทศต่างๆได้แก่ ประเทศสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ ผลการวิจัย พบว่าประเทศสหราชอาณาจักรเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบตามปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ (Specific rate) โดยกำหนดทั้งอัตรามาตรฐานเป็นอัตราเดียว และอัตราลดหย่อนซึ่งเอื้อสำหรับผู้ผลิตรายย่อยที่มีปริมาณการผลิตไม่มากและสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำ ประเทศฝรั่งเศสเก็บภาษีสรรพสามิตตามปริมาณความเข้มข้นแอลกอฮอล์ เช่นกันโดยกำหนดมาตรฐานเป็นอัตราเดียว และอัตราลดหย่อนซึ่งเอื้อ สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่มาจากประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม นอกจากนี้ประเทศฝรั่งเศสยังมีการเก็บภาษีเพิ่ม ณ สถานบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อนำเงินเข้ากองทุนประกันการเจ็บป่วย ประเทศสหรัฐอเมริกาเก็บทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีจำหน่าย ภาษีสรรพสามิตเก็บตามปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ โดยกำหนดทั้งอัตรามาตรฐานเป็นอัตราเดียว และอัตราลดหย่อนซึ่งเอื้อสำหรับผู้ผลิตรายย่อยที่มีปริมาณการผลิตไม่มาก ประเทศนิวซีแลนด์เก็บทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีสินค้าและบริการ โดยภาษีสรรพสามิตเก็บตามปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เป็นหลัก ประเทศออสเตรเลียมีรูปแบบการเก็บภาษีเป็นแบบอัตราผสม กล่าวคือภาษีสรรพสามิตเรียกเก็บโดยใช้ปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ภาษีศุลกากรเก็บตามมูลค่า (Ad valorem rate) ประเทศญี่ปุ่นเก็บภาษีแบบตามปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่อกิโลลิตร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกจัดแบ่งเป็น 10 ประเภทและ 11 ชนิด ตามชนิดของวัตถุดิบและกระบวนการผลิต ประเทศเกาหลีใต้เรียกเก็บภาษีโดยใช้ปริมาณลิตรของแอลกอฮอล์ซึ่งมีการเก็บภาษีค่อนข้างสูงสำหรับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้าเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดั้งเดิมและที่ผลิตภายในประเทศทั้งประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้มีลักษณะการจัดเก็บภาษีคล้ายกัน นอกจากนี้ทั้งสองประเทศนี้ยังใช้มาตรการทางด้านภาษีคุ้มครองผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พื้นเมืองอีกด้วย ประเทศมาเลเซียเก็บภาษีแบบอัตราผสมคือ ร้อยละ 15 ของมูลค่าของใบราคาเป็นอัตราเดียว ประเทศฟิลิปปินส์เก็บภาษีสรรพสามิต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมูลค่าที่เป็นราคาขายปลีกสุทธิ จาการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศต่างๆ พบว่าในยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกาเก็บภาษีสรรพสามิตตามปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เป็นหลัก โดยมีแนวคิดว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งมีปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์สูงเท่าใดยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงตามไปด้วย เนื่องจากทำลายสุขภาพมากกว่า อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงทั้งยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีฐานะเป็นทั้งประเทศผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั้นนำของโลก จากข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลกพบว่าปี พ.ศ. 2547 คนอเมริกันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยคนละ 8.44 ลิตร ส่วนสถิติของปี พ.ศ. 2546 พบว่าคนฝรั่งเศสดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยคนละ 11.43 ลิตร และคนอังกฤษดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยคนละ 11.75 ลิตร ซึ่งจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งจำนวนคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศดังกล่าวมีมากกว่าคนที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายเท่า ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่สำคัญทั้งยุโรปและ ประเทศสหรัฐอเมริกามีประวัติของการผลิตและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานาน แบบแผนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของชาวยุโรปและชาวอเมริกันเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วยเหตุนี้การใช้มาตรการภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์นั้นก็เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของโลก ซึ่งประเทศเหล่านี้มุ่งที่จะลดปริมาณการดื่มไม่ได้มุ่งเพื่อลดจำนวนคนดื่ม ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า ทั้งยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกาเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระบบเดียวคือการเก็บตามปริมาณเป็นหลัก (specific rate) เช่นเดียวกับประเทศนิวซีแลนด์และญี่ปุ่น ส่วนประเทศออสเตรเลีย มาเลเซียมีรูปแบบการเก็บภาษีแบบอัตราผสม กล่าวคือ การจัดเก็บภาษีทั้งตามปริมาณแอลกอฮอล์และตามมูลค่าโดยมีแนวคิดว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดาเป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพและสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศออสเตรเลีย การเก็บภาษีตามมูลค่าเพื่อปกป้องธุรกิจไวน์ในประเทศส่วนประเทศฟิลิปปินส์ มรการเก็บภาษีตามมูลค่าที่คิดกับราคาขายปลีกเพื่อป้องกันการแจ้งราคาหน้าโรงงานต่ำกว่าที่เป็นจริง จากการทบทวนระบบภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของต่างประเทศ จะเห็นว่าแต่ละประเทศจะใช้ระบบภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เหมาะกับบริบทภายในประเทศของตนเอง เพื่อให้ประเทศนั้นๆ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้เข้ารัฐ การคำนึงถึงสุขภาพ การปกป้องธุรกิจภายในประเทศเป็นต้น ข้อเสนอแนะนโยบายสำหรับประเทศไทย ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีแบบแผนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนเป็นวัฒนธรรมเหมือนอย่างยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการคิดออกแบบระบบภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ต้องคำนึงถึงบริบทของประเทศไทยเอง อาทิความชุกของผู้ดื่ม รายได้เข้ารัฐ การปกป้องธุรกิจภายในประเทศ การคุ้งครองสุขภาพ การลดนักดื่มหน้าใหม่ เป็นต้น การออกแบบภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยคำนึงถึงบริบทต่างๆเหล่านี้ จะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแท้จริง คำสำคัญ: เครื่องดื่มแอลกอฮอล์,ภาษีสรรพสามิต,ภาษีมูลค่าเพิ่ม,ภาษีศุลกากร

Keywords: เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ภาษีสรรพสามิต, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีศุลกากร, สุรา, เหล้า, ภาษี

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

Code: 200800137

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: