ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อนันต์ แม้นพยัคฆ์

ชื่อเรื่อง/Title: หมู่บ้านงดเหล้าเข้าพรรษา เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราช

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 101.

รายละเอียด / Details:

บทนำ การดำเนินงานรณรงค์สร้างหมู่บ้านงดเหล้าเข้าพรรษาในปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยในครั้งนี้นั้น ดำเนินงานภายใต้เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ซึ่งถือได้ว่าพระสงฆ์เป็นผู้นำหมู่บ้านและชุมชนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และมียุทธวิธีในการดำเนินงาน คือ การชักชวนพสกนิกรชาวไทยร่วมทำความดีถวายพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทำให้หมู่บ้านของตนเองเป็นหมู่บ้านปลอดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งต้องอาศัยพลังความสามัคคีของประชาชนในหมู่บ้าน ความตั้งใจจริงของพระสงฆ์และแกนนำของหมู่บ้านเป็นสำคัญ คำจำกัดความ หมู่บ้านงดเหล้าเข้าพรรษา เฉลิมพระเกียรติ คือ ประชาชนทุกคนในหมู่บ้านพร้อมใจกันไม่ซื้อ ไม่ขาย และไม่กินเหล้าตลอดพรรษา วิธีดำเนินงาน 1. สร้างความเข้าใจ พระสงฆ์ดำเนินการประชุมชี้แจงแก่แกนนำในหมู่บ้านทำความเข้าใจร่วมกันแล้วทั้งพระสงฆ์และแกนนำในหมู่บ้านช่วยการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในหมู่บ้านนอย่างทั่วถึง 2. สำรวจข้อมูลจำนวนคนดื่ม เพื่อให้สามารถรู้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องทำงานเชิงลึกว่ามีอยู่เท่าไร เพื่อวางแผนในการทำงานต่อ 3. เวทีทำความเข้าใจกับผู้ดื่ม เมื่อทราบจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ผู้ดื่มเหล้าแล้ว เชิญผู้ที่ดื่มเหล้าในหมู่บ้านเข้ามาร่วมในเวที เพื่อพูดคุยอธิบายสร้างความเข้าใจ ว่าปีนี้เป็นปีมหามงคล หมู่บ้านจะร่วมกันสร้างความดีถวายพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทำหมู่บ้านให้ปลอดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา เป็นเวทีอธิบายและขอความร่วมมือ (ให้เกียรติผู้ที่ดื่มให้เขาสมัครใจ) 4. สร้างความเข้าใจกับร้านค้า อธิบายและเข้าไปชี้แจง ขอความร่วมมือจากร้านค้า ให้ร่วมกันสร้างความดีด้วยการงดขายเหล้าในช่วงเข้าพรรษา 5. จัดเวทีประชาคม เมื่อได้แนวร่วมจากผู้ที่ดื่มเหล้าและร้านค้าแล้ว และประชาชนในหมู่บ้านเข้าใจวัตถีประสงค์และภาพของหมู่บ้านงดเหล้าเข้าพรรษาระดับหนึ่งแล้ว เชิญประชาชนทุกคนเข้าร่วมอภิปรายและลงมติร่วมกันว่า หมู่บ้านเราจะร่วมกันงดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อเป็นการทำความดีถวายพระเจ้าอยู่ 6. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแล ทุกหมู่บ้านมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการดำเนินงานหมู่บ้านงดเหล้าเข้าพรรษา โดยตั้งจากเวทีประชาคม เพื่อทำหน้าที่คอยกำกับดูแลและเฝ้าระวังในหมู่บ้าน 7. พิธีเปิดป้ายสร้างความภาคภูมิใจ ทุกหมู่บ้านนำป้ายหมู่บ้านงดเหล้า และธงสัญลักษณ์ที่ได้รับมอบจาก ฯพณฯ ท่านพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ไปติดตั้งที่หมู่บ้านของตนจัดกิจกรรมพิธีเปิดป้าย ทำบุญหมู่บ้าน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนในหมู่บ้าน 8. เวทีเรียนรู้ระหว่างพรรษา เพื่อเป็นการพัฒนาความคิด ทัศนคติให้ปับประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและนำไปสู่การลด ละ เลิก เหล้าอย่างถาวร (เป็นเวทีที่สามารถนำไปสู่การต่อยอดขยายผลได้) 9. เวทีถอดบทเรียน หลังจากออกพรรษาแล้วจะมีการจัดเวทีถอดบทเรียน เพื่อสรุปเป็นบทเรียนของการดำเนินงานและหาแนวทางต่อยอดขยายผลการดำเนินงานให้มากกว่าที่เป็นหมู่บ้านงดเหล้าเข้าพรรษา. ผลของการดำเนินงาน มีหมู่บ้านที่ประกาศเป็นหมู่บ้านงดเหล้าเข้าพรรษาเฉลิมพระเกียรติได้ จำนวน 120 หมู่บ้านใน 12 จังหวัด มีตำบลที่สามารถประกาศเป็นตำบลงดเหล้าเข้าพรรษา คือ ตำบลไม่มีการกินเหล้าในช่วง เข้าพรรษาจำนวน 2 ตำบล มีหมู่บ้านที่ปลอดเหล้าถาวรคือ ไม่มีการซื้อ การขาย และการกินเหล้าในหมู่บ้านตลอดไปจำนวน 7 หมู่บ้าน.

Keywords: เหล้า, สุขภาพ, เข้าพรรษา, เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราช, สุรา, พระสงฆ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา

Code: 200800117

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: