ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บัณฑิต แป้นวิเศษ

ชื่อเรื่อง/Title: แรงงานไทย : ชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ไร้แอลกอฮอล์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 105.

รายละเอียด / Details:

คนไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นชาติ ขี้เมาอันดับ 5 ของโลก และกว่า 14 ปีที่ผ่านมา (ปี 2532-2546) มีสถิติการดื่มเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า โดยเฉพาะในปี 2546 มีชายไทยอายุระหว่าง 25-44 ปี จำนวน 7.84 ล้านคน ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์รวมกันกว่า 3,691 ล้านลิตร ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาชีพที่ใช้แรงงาน ซึ่งส่วนมากนิยมเหล้าขาว 40 ดีกรีขึ้นไป เพราะซื้อง่ายและราคาถูก จากสถิติล่าสุดที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สำรวจคุณภาพชีวิตของคนงานในนิคมอุตสาหกรรม 17 แห่ง ทั้ง 4 ภาค จำนวน 2,656 ตัวอย่าง อายุระหว่าง 18-59 ปี พบว่า การดำเนินชีวิตส่วนใหญ่เดินควบคู่ไปด้วยอบายมุขวัตถุทำลายสุขภาพ โดยกว่าร้อยละ 48 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 46.6 เคยพยายามเลิกแต่ไม่สำเร็จ จากการรวบรวมข้อมูลของฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ในพื้นที่อุตสาหกรรม 3 แห่ง (สมุทรปราการ,ลำพูน,สมุทรสาคร,นครปฐม) จากผู้ใช้แรงงานทั้งหญิงและชาย โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 200 คน พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงมาก ถ้าเปรียบเทียบกับรายได้ที่ต้องจ่ายไปกับการซื้อเหล้าในช่วง 3 เดือนย้อนหลังก่อนเข้าพรรษา (มี.ค.-พ.ค.49) เป็นจำนวนเงินสูงถึง 606,990 บาท ส่งผลทำให้ชีวิตของแรงงานหญิง-ชายต้องตกอยู่ในสภาพปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ รายได้ไม่พอรายจ่าย ปัญหาสุขภาพความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ปัญหาการติดเชื้อโรคเอดส์จากการมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาอุบัติเหตุนอกจากนี้ในการสัมมนาโรงงานสีขาวไม่เอาแอลกอฮอล์ที่มูลนิธิเพื่อนหญิงจัดร่วมกับกระทรวงแรงงานยังพบว่ามีปัญหาเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 50 คนงานในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมชลบุรีที่มีการพิพาทแรงงาน และนายจ้างขอเลิกจ้างเนื่องจากมาสาย หรือขาดงานเกินกว่า 3 วัน ขากประสิทธิภาพในการทำงาน อันมีสาเหตุหนึ่งมาจากการดื่มเหล้า รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การก่ออาชญากรรม เป็นต้น จากสภาพปัญหาดังได้กล่าวข้างต้น ฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้มีโครงการทำงานร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่,ชุมชนคนงานไทยเกรียงย่านพระประแดง,สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอวาไทย จ.นนทบุรี และชมรมเพื่อนเพื่อเพื่อน-ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี พบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ลด ละ เลิกเหล้า หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีชีวิตใหม่ที่มีคุณค่าใหม่ในหลายด้าน คือ 1.ชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ในมิติบทบาทหญิงชายในการให้ความรักและความอบอุ่นกลับคืนมาสู่ครอบครัว รวมถึงการช่วยทำงานบ้านและงานในครัวเรือน 2.ชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ในมิติของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น มีรายได้เหลือจากการทำงานนำมาเก็บออมในกลุ่มออมทรัพย์หรือธนาคาร มีฐานะทางการเงินดีขึ้น 3.ชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ในมิติของคนต้นแบบในครอบครัว ชุมชน และสังคม คือ ได้รับการยอมรับจากลูก เมีย ได้รับคุณค่าจากชุมชน เช่น ลูกเข้าหาพูดคุยเชื่อฟังมากขึ้น ในขณะที่ชุมชนชื่นชมและให้การยอมรับในการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง 4.ชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ในมิติของการเป็นคนต้นแบบในโรงงานหรือสถานประกอบการ เช่น สถานประกอบการ อนุญาตให้ไปร่วมกิจกรรมและสามารถเชิญชวนเพื่อนที่ต้องการเลิกเหล้าไปด้วยได้ หรือการเป็นวิทยากรในโรงงานในโรงงานสุขภาพความปลอดภัย เป็นต้น 5.ชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ในมิติเชิงองค์กรสหภาพแรงงานและองค์กรนายจ้าง คือ สมัยก่อนกิจกรรมสหภาพแรงงานจะมีการนำเหล้าเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พอมีโครงการลด ละ เลิกเหล้า เข้ามารณรงค์และทำงานทางความคิดกับผู้นำแรงงาน ทำให้เห็นชัดว่ากิจกรรมงานต่างๆเริ่มไม่มีเหล้าตั้งให้เห็น และสหภาพบางแห่งได้หารือกับทางนายจ้างให้มีการจัดงานเลี้ยง งานบุญ ไม่มีเหล้า รวมทั้งเปิดหอพักปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา 6.ชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ในมิติด้านสุขภาพ คือ คนงานที่เลิกเหล้าจะมีหน้าตาที่แจ่มใสร่าเริง มีสติและมีความสุขรอบคอบ รวมถึงบุคลิกภาพท่าทีน่าเชื่อถือ อีกทั้งลดปัญหาในด้านความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น 7.ชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ในมิติของการมีสังคมเพื่อนในชุมชนโรงงานที่ต้องการลด ละ เลิกเหล้าแบบเครือข่าย เช่น เกิดเครือข่ายแรงงานชุมชนอุตสาหกรรม 3 พื้นที่ของผู้ชายและผู้หญิงเลิกเหล้า เป็นต้น 8.ชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ในมิติขององค์กรภาครัฐและนายจ้างเกิดความตื่นตัว โดยจะมีการนำเอาประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปพัฒนาเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับโรงงานสีขาว เป็นต้น กล่าวได้ว่า สถานการณ์ด้านแรงงานกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน โดยเฉพาะการดื่มเหล้าถูกทำให้เป็นวัฒนธรรมเข้ามาเจือปนในชีวิตของผู้ขายแรงงาน จนดูเสมือนว่าไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อเจาะลึกลงไปถุงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กลับปรากฏให้เห็นเด่นชัด ฉะนั้น โครงการลด ละ เลิก ในหมู่ผู้ใช้แรงงานได้เดินทางมาระยะเวลาหนึ่ง และสามารถพิสูจน์ได้ว่านำมาแก้ไขปัญหาให้แรงงานไทยได้มีชีวิตใหม่ คุณค่าใหม่ ไร้แอลกอฮอล์.

Keywords: สุรา, แอลกอฮอล์, แรงงานไทย, คุณภาพชีวิต, การดำเนินชีวิต, ความรุนแรง, ครอบครัว, อาชญากรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง

Code: 200800115

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: