ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประภาศรี ปัญญาวชิรชัย

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าและทำร้ายตนเองของผู้ป่วยที่มารับบริการในสถานบริการสาธารณสุข สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เขตตรวจราชการที่ 8

แหล่งที่มา/Source: วารสารราชานุกูล, ปีที่ 21, ฉบับที่ 2, พฤษภาคม-สิงหาคม 2549, หน้า 24.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยและสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้าและการทำร้ายตนเองของผู้ป่วย และความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลส่วนบุคคลกับปัจจัยและสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้าและวิธีการทำร้ายตนเอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าหรือทำร้ายตนเองที่มารับบริการตรวจรักษา ณ สถานบริการสาธารณสุข สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง เขตตรวจราชการที่ 8 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2547 จำนวน 1,268 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบการเฝ้าระวังภาวะซึมเศร้าและการทำร้ายตนเอง : กรมสุขภาพจิต รง. 506 DS วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ จำนวน ร้อยละ และทดสอบสมมุติฐานโดยใช้สถิติ Chi-Square Test ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าหรือทำร้ายตนเองที่มารับบริการตรวจรักษา ณ สถานบริการสาธารณสุข สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เขตตรวจราชการที่ 8 ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 71.1 มากกว่าเพศชาย ร้อยละ 28.9 สัญชาติไทย ร้อยละ 98.7 และมีอายุระหว่าง 20-29 ปีมากที่สุด ร้อยละ 26.0 ด้านสถานภาพสมรส มีสถานภาพสมรส คู่มากที่สุด ร้อยละ 57.8 สำหรับด้านอาชีพ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง / ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 40.5 ประเภทของการมารับบริการ และวิธีการที่ทำร้ายตนเองในครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่มาด้วยอาการซึมเศร้า และอาการทำร้ายตนเองเป็นครั้งแรก ร้อยละ 72.1 และ 87.5 ตามลำดับ วิธีการที่ทำร้ายตนเองในครั้งนี้ ใช้วิธีกินยาเกินขนาดมากที่สุด ร้อยละ 36.4 ปัญหาหรือเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือทำร้ายตนเอง พบว่า ส่วนใหญ่มาด้วยปัญหาความน้อยใจ คนใกล้ชิดที่ดุด่าว่ากล่าว ตำหนิ ร้อยละ 38.0 สำหรับด้านปัญหาสุขภาพ ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาสุขภาพ ร้อยละ 60.6 มากกว่ามีปัญหาสุขภาพ ร้อยละ 39.4 ในด้านมีปัญหาสุขภาพ ส่วนใหญ่เป็นความดันโลหิตสูงมากที่สุด ร้อยละ 21.4 สำหรับด้านพฤติกรรมส่วนบุคคล ส่วนใหญ่ไม่มีพฤติกรรมส่วนบุคคล ร้อยละ 69.6 มากกว่ามีพฤติกรรมส่วนบุคคล ร้อยละ 30.4 และในด้านมีพฤติกรรมส่วนบุคคล ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมติดสุรามากที่สุด ร้อยละ 10.8 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าหรือทำร้ายตนเอง พบว่า เพศ อายุ สถานภาพสมรส และอาชีพมีความสัมพันธ์กับปัญหาหรือเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือทำร้ายตนเอง ปัญหาสุขภาพและวิธีการทำร้ายตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05.

Keywords: ภาวะซึมเศร้า, การฆ่าตัวตาย, พยายามฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: นักจิตวิทยา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 เขตตรวจราชการที่ 8 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200800168

ISSN/ISBN: 8057-8036

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: