ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุภาพร สุโพธิ์

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาบทบาทแกนนำเยี่ยมบ้านผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน: กรณีศึกษา.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 455 .

รายละเอียด / Details:

บทนำ จากแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2547-2550 (145,168,183 และ 198) ตามลำดับ และจากการศึกษาข้อมูลรายงานในปีงบประมาณ 2549-2550 พบว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในเขตรับผิดชอบในเครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลแกดำ ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 5 ราย คิดเป็นอัตราการฆ่าตัวตาย 12.6 ต่อแสนประชากร ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของกรมสุขภาพจิต (6.8 ต่อแสนประชากร) ส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้าครอบครัว จึงมีความจำเป็นที่ต้องการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนที่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มเป้าหมายด้านสุขภาพจิตเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและความรุนแรงที่เกิดขึ้นการพัฒนาศักยภาพบทบาทของแกนนำเยี่ยมบ้านในการคัดกรองแบ่งกลุ่มประชาชนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต และเชื่อมโยงระหว่างความรู้ภาคประชาชนกับภาควิชาชีพเพื่อให้ระบบการดูแลประชาชามีความครอบคลุมและการเข้าถึง ซึ่งมีกลยุทธ์ที่สำคัญคือการสร้างระบบส่งต่อข้อมูลปัญหาสุขภาพจิต ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ เพื่อจะได้มีระบบบริการ ส่งเสริม ป้องกัน และการฟื้นฟูสภาพในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งเป็นกรณีศึกษาชุมชนบ้านขามหวาน หมู่ที่ 3 ในเขตเทศบาลตำบลแกดำ ซึ่งการพัฒนานี้สอดคล้องกับเป้าหมายของการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต ตามแผนพัฒนากระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) และสอดคล้องกัลป์แผนแม่บทการพัฒนาภาคประชาชนในแผน 10 (2550-2554) ที่มุ่งเน้นการสร้างระบบเครือข่าย องค์กรในชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้. การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบทบาทแกนนำเยี่ยมบ้านในการคัดกรองผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ในเขตเทศบาลตำบลแกดำ จังหวัดมหาสารคาม กลุ่มศึกษาคือแกนนำเยี่ยมบ้านที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ของโรงพยาบาลแกดำมาก่อนยินดีเข้าร่วมโครงการจำนวน 11 คน และประชาชนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในชุมชนจริงตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปในระหว่างการศึกษารวมทั้งสิ้น 120 คน เครื่องมือที่ใช้ในการคัดกรองผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตชุมชนเป็นแบบคัดกรองที่พัฒนาจากผลการศึกษาของจิตนา ลี้ละไกรวรรณ (2550) ซึ่งใช้ในการอธิบายการเจ็บป่วยทางจิตภาคประชาชนการดำเนินการกลุ่มอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการ จัดเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 11 คนและจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้จำนวน 7 ครั้ง ห่างกันทุกสองสัปดาห์ใช้เวลาครั้งละ 2 ชั่วโมง. ผลการศึกษา พบว่าแกนนำเยี่ยมบ้านสามารถ 1) อธิบายการเจ็บป่วยทางจิตตามการรับรู้ของคนในชุมชน 2) จำแนกแยกแยะแบ่งกลุ่มประชาชนจากอาการที่เกิดขึ้นได้ จำนวน 3 กลุ่ม คือกลุ่มทั่วไปจำนวน 113 คน กลุ่มเสี่ยงจำนวน 3 คน กลุ่มผู้ป่วยจำนวน 4 คน ตามลำดับ ผลจากการศึกษา นำไปใช้เป็นฐานข้อมูลพัฒนาโครงการสุขภาพจิตชุมชน การเฝ้าระวังโรคจิตในชุมชน และการส่งต่อผู้ป่วยจากภาคประชาชนสู่ภาควิชาชีพ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ภาควิชาชีพดำเนินการแบบบูรณาการสุขภาพจิตชุมชน ได้แก่ การส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสภาพ และส่งเสริมการดูแลโดยเครือข่ายชุมชนต่อไป.

Keywords: ฆ่าตัวตาย, สุขภาพจิต, การพัฒนาบทบาท, การเยี่ยมบ้าน, การฆ่าตัวตาย, ความรุนแรง, การฟื้นฟู

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลแกดำ

Code: 200800246

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: