ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศุพรรณี ตั้งภักดีและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: คุณภาพชีวิตและความเครียดของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดและเครือข่าย ปี 2549

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 404.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาคุณภาพชีวิตและความเครียดของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดและเครือข่าย ปี 2549 เป็นการ วิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาคุณภาพชีวิต และความเครียดของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดและเครือข่าย กลุ่มตัวอย่าง เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดและเครือข่าย ทุกตำแหน่ง ในปี 2549 จำนวน 206 คน โดยการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้เกณฑ์ ร้อยละ 10-15 และแบ่งลักษณะของกลุ่มตัวอย่างออกเป็น ผู้บริหาร ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2) แบบวัดคุณภาพชีวิต 3) แบบสอบถามความเครียด และแบบวัดความเครียด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาแจกแจงด้วยค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย. จากผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสุวัฒน์ มหันต์นิรันดร์และคณะ (2541) ที่ศึกษาคุณภาพชีวิตคนไทยในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจโดยพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง (78.3%) เช่นกัน และปัจจัยที่มีผลต่อระดับความเครียด เช่นปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านการทำงานและปัจจัยด้านครอบครัวของกลุ่มตัวอย่าง โดยกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่ามีความเครียดเป็นส่วนมาก แต่เป็นความเครียดในระดับที่ต่ำและมีสาเหตุมาจากปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน ปัญหาด้านหน้าที่การงานเพื่อนร่วมงานหัวหน้างาน ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นว่าทุกปัญหามีทางออกมีส่วนน้อยที่มองไม่เห็นทางออก (ทางแก้ไขปัญหา) และผู้ที่สามารถให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะความเครียด คือเพื่อน คู่สมรสและครอบครัว ผู้ที่มีความเครียดจะมีความรู้สึก โกรธและหงุดหงิดมากที่สุดและการทำงานผิดพลาด ในการแก้ไขปัญหาจะใช้วิธีการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือระบายความทุกข์ความเครียดกับผู้อื่น และอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น งานอดิเรก ทำบุญ ดูโทรทัศน์ มีเพียงส่วนน้อยที่อยากทำร้ายผู้อื่น ข้อเสนอแนะจากการวิจัยคือ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมลดภาวะเครียดที่เกิดจากการปฏิบัติงาน และกิจกรรมปรับทัศนคติในการเผชิญภาวะเครียด ลดภาวะความเครียดภายในหน่วยงานที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขาดความยุติธรรม ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ภาระงานที่ไม่จำเป็น การสร้างขวัญ กำลังใจเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อร่วมงานและหัวหน้างาน.

Keywords: ความเครียด, คุณภาพชีวิต, ครอบครัว, อารมณ์, ความสัมพันธ์, ร้อยเอ็ด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: หน่วยงานสำนักงานวิจัย โรงพยาบาลร้อยเอ็ด

Code: 200800241

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: