ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิตยาภรณ์ มงคล, อุทัยวรรณ จันทร์คง, และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: เปียโน : ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยโรคจิตเภท.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 244.

รายละเอียด / Details:

บทนำ จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เผยแพร่ในฐานข้อมูลของ Cochran ปี 2008 พบว่า ดนตรีบำบัดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้ในการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชสรุปว่า ดนตรีบำบัดมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยในโรคจิตเภท โดยเฉพาะดนตรีบำบัดแบบ Active music therapy ที่เน้นถึงความสำคัญในการให้ผู้ป่วยเล่นดนตรีเพื่อการบำบัด โรงพยาบาลศรีธัญญา จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชทดลองใช้ที่ตึกฟื้นฟู 9 โดยเชิญอาจารย์ตรีรัตน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ และทีม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ การสอนดนตรีที่ช่วยให้เล่นดนตรี โดยเฉพาะเปียโนได้อย่างรวดเร็ว และเป็นผู้มีประสบการณ์สอนดนตรีในผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสหลายประเภท โดยมาสอนบุคลากรพยาบาลและผู้ป่วยตึกฟื้นฟู 9 ด้วยเทคนิคพิเศษ One-to Five ซึ่งแปลงโน้ตดนตรีสากลให้เป็นตัวเลข 1 ถึง 5 เครื่องดนตรีคือเปียโนเป็นเครื่องมือในการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเภท การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มกิจกรรมในการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชร่วมกับการรักษาพยาบาลมาตรฐานจิตเวช โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2550-31 มกราคม 2551 ใช้เทคนิคการสอนและเล่นดนตรี “วันทูไฟฟ์” สอนสัปดาห์ละหนึ่งครั้งๆ ละ 10 นาที ให้ผู้ป่วยฝึกเล่นเองวันละครั้งๆ ละ 5-10 นาที ประเมินผลโดยประเมินก่อนและหลังเล่นเปียโนด้วยแบบวัดความสุขคนไทย (THI-15) แบบวัดความเครียด (SPST-20) แบบประเมินผู้ป่วยเพื่อพัฒนาการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชของกรมสุขภาพจิต แบบประเมินอาการทางจิตเวช (BPRS) และแบบวัดความพึงพอใจต่อการร่วมกิจกรรม. ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเป็นเพศชาย จำนวน 10 ราย (มี 1 รายถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลก่อนสิ้นสุดโครงการ) ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท ผลการประเมินหลังเล่นเปียโน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีค่าคะแนนความสุขเพิ่มขึ้น (ค่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเล่น 27.22, หลังเล่น 28.67) ความเครียดลดลง (ค่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเล่น 43.78, หลังเล่น 41.33) และผลการประเมินทักษะการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชทั้ง 6 ด้าน ของผู้ป่วย พบว่า มีสมรรถนะเพิ่มขึ้น (โดยค่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเล่น 2.84 และหลังเล่นเปียโนผ่านไป 3 เดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.89) และผลการประเมินอาการทางจิต พบว่าเพิ่มขึ้น (คะแนนเฉลี่ยก่อนเล่น 21.33 หลังเล่น คะแนนเฉลี่ย 21.78) ผลการวัดความพึงพอใจต่อการดำเนินกิจกรรมนี้สำหรับบุคลากรมีความพึงพอใจอยู่ระดับดี ที่ร้อยละ 98.23 ผู้ป่วยที่ร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดีร้อยละ 96.83. ข้อเสนอแนะ การเล่นเปียโนโดยใช้เทคนิควันทูไฟฟ์เป็นการสอนที่ง่ายไม่มีความกดดันขณะเล่น เพราะเป็นการเล่นโดยการแปลงโน้ตดนตรีสากล เป็นตัวเลขที่เข้าใจได้ง่าย ผู้ป่วยมีความสุขขึ้นและลดความเครียดหลังเล่นเปียโน เพิ่มทักษะการดำรงชีวิตในสังคมของผู้ป่วยให้มีสมรรถนะเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าผลการประเมินอาการทางจิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีค่าคะแนนเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่ายังมีอาการเจ็บป่วยทางจิตอาจจะมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายด้าน แต่ดนตรีบำบัดทำให้ผู้ป่วยจิตเภทสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ.

Keywords: ดนตรีเปียโน, ดนตรีบำบัด, เปียโน, โรคจิตเภท, ผู้ป่วยโรคจิตเภท, วันทูไฟฟ์, จิตเภท, จิตเวช, คุณภาพชีวิต, สุขภาพจิต, ความเครียด, การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช, active music therapy, one to five tecnique, piano

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 200800289

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: