ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุเพียร โภคทิพย์

ชื่อเรื่อง/Title: ความแตกต่างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ในโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน : มิติที่ถูกมองข้าม.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 199.

รายละเอียด / Details:

บทนำ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เดิมเชื่อกันว่าโรคนี้เป็นโรคของผู้ชาย แต่ปัจจุบันพบว่าโรคนี้เริ่มพบมากขึ้นในผู้หญิง และผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ชาย ถึงแม้โรคนี้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นในผู้หญิง แต่ระบบการบริการทางสุขภาพยังไม่ได้ตระหนักในเรื่องดังกล่าวชัดเจน จึงได้ทำการศึกษาครั้งนี้. วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างหญิงและชายในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยใช้การทบทวนวรรณกรรมแบบบูรณการ ของ Cooper คำสำคัญที่ใช้ในการสืบค้นคือเพศสภาพ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, ความแตกต่างระหว่างเพศและโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, ความไวเชิงเพศสภาพ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สืบค้นจากฐานข้อมูล CINAHL, Medline, Science direct, Blackwell Synergy เริ่มจากปี 1990-2007 สืบค้นได้ 37 เรื่อง และเข้าได้กับเกณฑ์ในการศึกษาทั้งหมด 31 เรื่อง ตรวจสอบคุณภาพงานวิจัยโดยใช้เกณฑ์ BBR check list ผลการประเมินคุณภาพของงานวิจัยส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ คะแนนมากกว่าร้อยละ 80. ผลการศึกษา ความแตกต่างระหว่างหญิงชาย แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1). ปัจจัยทางสังคมประชากร ลักษณะการเจ็บป่วย อาการแสดงและการดูแลรักษา พบว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงจะมีอายุมากกว่าและมีอาการ อาการแสดงที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้ได้รับการดูแลรักษาที่ช้า และได้รับการรักษาที่น้อยกว่าผู้ชายทั้งในการรักษาชนิด Invasive และ non-invasive ในทุกระยะขิงการรักษา 2). การรับรู้และพฤติกรรมสุขภาพผู้หญิงจะรับรู้ว่าโรคหัวใจเป็นโรคของผู้ชาย และเห็นว่าหน้าที่ในครอบครัวสำคัญกว่าสุขภาพของตัวเอง ทำให้มาโรงพยาบาลช้ากว่าผู้ชาย 3). ผลกระทบของโรคพบว่าอัตราการกลับเข้าทำงานในผู้หญิงและชายที่ 4 เดือน ไม่ต่างกัน ถึงแม้ผู้หญิงจะมี ระดับความรุนแรงของโรคหัวใจที่รุนแรงมากกว่าชาย และผู้หญิงมีการเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย และมีอัตราการเสียชีวิตที่มากกว่าผู้ชาย. สรุป การสังเคราะห์งานวิจัย เป็นรูปแบบใหม่ในการสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์ จากการสังเคราะห์พบประเด็นที่มีความแตกต่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายอย่างชัดเจนในเรื่องอายุ สถานภาพสมรส อาการ อาการแสดงที่ไม่ชัดเจน การมารักษาที่ล่าช้า การรับรู้เรื่องโรคและอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลบุคลากรที่ให้บริการจึงควรคำนึงถึงความแตกต่างเหล่านี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลสูงสุด ส่วนประเด็นที่ความแตกต่างยังไม่ชัดเจนได้แก่ การเผชิญปัญหา คุณภาพชีวิต ภาวะซึมเศร้า และ การรักษาจึงควรมีการศึกษาต่อเพิ่มเติม.

Keywords: สุขภาพจิต, ภาวะซึมเศร้า, ครอบครัว, ความรุนแรง, ความแตกต่าง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: งานห้องผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี

Code: 200800290

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: