ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปราณี ศรีสงคราม

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยสูงอายุ คลินิกผู้สูงอายุ โรงพยาบาลบ้านหมี่.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 394.

รายละเอียด / Details:

ภาวะหรืออาการซึมเศร้าพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยที่มีการสูญเสียหลายด้านทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นวัยที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างมาก โดยมีรายงานพบว่า ประมาณ ร้อยละ 30 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเคยมีประสบการณ์ของการมีภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตประจำวัน จากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 10-15 มีอาการซึมเศร้า และร้อยละ 3 ป่วยด้วยภาวะซึมเศร้า พบในเพศหญิงมากกว่าชาย และในผู้สูงอายุตอนต้นจะมีอาการน้อยกว่าผู้สูงอายุตอนปลาย การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าของแพทย์ทั่วไปจะให้ความชุกของการเกิดโรคประมาณ ร้อยละ 12-45. การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความชุกและปัจจัยที่มีผลต่อภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยสูงอายุ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ป่วยสูงอายุ ( อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่มารับบริการในคลินิกผู้สูงอายุ โรงพยาบาลบ้านหมี่ ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือนกันยายน 2550 เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบตามสะดวก จำนวน 363 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินสมรรถภาพในเชิงปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน (ADL) แบบประเมินกิจวัตรประจำวัน (IADL) แบบประเมินภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน แบบประเมินอาการของต่อมลูกหมาก (ฉบับนานาชาติ) (I-PSS) แบบทดสอบสมรรถภาพสองฉบับภาษาไทย (MMSE-Thai 2002) และแบบสัมภาษณ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows การวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลใช้สถิติเชิงพรรณนา (descriptive statistics) ได้แก่ ร้อยละ พิสัย ค่าเฉลี่ยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอายุ เพศ สถานภาพสมรส การใช้ชีวิตในครอบครัว ระดับการศึกษา ดัชนีมวลกาย โรคประจำตัว การประเมินสุขภาพตนเองการหกล้ม การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การออกกำลังกาย โดยใช้ไคสแควร์ (chi-square test) ผลการวิจัยพบว่า 1. ความชุกของภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยสูงอายุในคลินิกผู้สูงอายุโรงพยาบาลบ้านหมี่ ร้อยละ 13.8 (ชายร้อยละ 3.3 หญิงร้อยละ 10.5) พบในกลุ่มอายุผู้สูงอายุตอนต้นมากที่สุดร้อยละ 6.6 รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุตอนกลาง ร้อยละ 5.5 และผู้สูงอายุตอนปลายร้อยละ 1.7 ตามลำดับ จำแนกเป็นภาวะซึมเศร้าอย่างเดียวร้อยละ 12.9 (ชายร้อยละ 3.03 หญิงร้อยละ 9.92) และภาวะซึมเศร้าร่วมกับภาวะสมองเสื่อม ร้อยละ 0.8 (ชายร้อยละ 0.27 หญิงร้อยละ 0.55) 2. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยสูงอายุในคลินิกผู้สูงอายุโรงพยาบาลบ้านหมี่ ได้แก่ สถานภาพสมรส การใช้ชีวิตในครอบครัว ระดับการศึกษา ดัชนีมวลกาย การประเมินสุขภาพตนเอง การหกล้ม การดื่มสุรา ภาวะปัสสาวะไวเกิน และอาการของต่อมลูกหมาก ซึ่งผลการวิจัยทำให้ทราบความชุก และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุและสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการป้องกันและเฝ้าระวังภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุในอำเภอบ้านหมี่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป.

Keywords: ภาวะซึมเศร้า, ผู้สูงอายุ, ความสัมพันธ์, ครอบครัว

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: งานหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิงและคลินิกผู้สูงอายุ กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลบ้านหมี่

Code: 200800240

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: