ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สิทธิ์ถา จันทน์เทศ

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบชุมชนมีส่วนร่วม.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 370.

รายละเอียด / Details:

บทนำ การรับผู้ป่วยจิตเวชเพื่อการดูแลต่อของสถานอนามัยบ้านสร้างปี่หลังจากได้รับการบำบัดจากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์แล้ว มักจะประสบปัญหาการไม่ได้รับโอกาส ความเห็นและเข้าใจจากชุมชน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล และมักตกเป็นปัญหาของสังคมและต้องกลับเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลซ้ำอีกครั้ง. การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เป็นการศึกษากรณีตัวอย่างในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบชุมชนมีส่วนร่วม โดยศึกษาในผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งมีปัญหาการใช้ชีวิตในชุมชน หลังจากได้รับการรักษาทางการแพทย์จากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จนอาการอยู่ในขั้นปกติแต่เมื่อติดต่อให้ครอบครัว/ชุมชน มารับผู้ป่วยกลับสู่ชุมชน พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคในการยอมรับจากชุมชนเป็นอย่างมาก ทั้งที่ได้มีการประชาคม โดยเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และสถานีอนามัยบ้านสร้างปี่และชุมชนมาในระดับหนึ่งแล้ว จนในที่สุดก็ได้รับการช่วยเหลือของพระภิกษุที่มีใจเมตตาท่านหนึ่ง โดยรับดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชรายนี้ จนได้รับการยอมรับจากชุมชน ทำให้ชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งจากการประสานงานกับทุกภาคส่วน ในการติดตามดูแลผู้ป่วยรายนี้ทำให้ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ได้แนวคิดเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบชุมชนมีส่วนร่วม. วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวช 2. เพื่อให้ชุมชนมีความพึงพอใจในการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช 3. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องและป้องกันการขาดยาของผู้ป่วย 4. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล ติดตามและเยี่ยมบ้านให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง. วิธีการศึกษา 1. ประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อวางแผนการดำเนินงาน 2. สำรวจชุมชน ประชาคมชุมชน แสวงหาแนวร่วมองค์กรและแกนนำในชุมชน วิเคราะห์ปัญหา 3. ดำเนินงานตามกระบวนการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจของคนในชุมชนโดยมีการวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้มีประสิทธิภาพ 4. ประเมินผลการดำเนินงานและประเมินความพึงพอใจ. ผลการศึกษา 1. ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น 2. ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องและได้ยาตามกำหนด 3. ชุมชนมีความพึงพอใจในการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น 4. ผู้ป่วยได้รับการติดตามเยี่ยมจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง. ข้อเสนอแนะ ควรมีการขยายผลการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่งานอื่นๆ ของสถานีอนามัย.

Keywords: จิตเวช, การดูแล, การพัฒนาการ, การมีส่วนร่วม, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: สถานีอนามัยบ้านสร้างปี่ ตำบลสร้างปี่ อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

Code: 200800239

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: