ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธรณินทร์ กองสุข, สรพร ลอยหา

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าในจังหวัดยโสธร ปี 2550.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 153.

รายละเอียด / Details:

โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุของภาระโรคและความสูญเสียปีสุขภาวะ (DALY) เป็นอันดับที่ 1 ในผู้หญิงไทย และเป็นอันดับ 4 ในผู้ชายไทย และประเทศไทยยังไม่มีระบุการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิผล การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบระบบการเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิผล ทำให้การช่วยเหลือเบื้องต้นล่าช้าและมีผลแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยการวิจัยพัฒนาและทดลอง กลุ่มเป้าหมายคือ อสม. พยาบาล แพทย์ และประชาชน ทุคนในจังหวัดยโสธร. ผลการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรคซึมเศร้าในจังหวัดยโสธร เป็นการพัฒนาจากองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และบุคลากรด้านสาธารณสุข แกนนำชุมชน อสม. และประชาชน ทำให้ได้เทคโนโลยีในการส่งเสริมป้องกันโรคซึมเศร้า เครื่องมือการคัดกรองโรคซึมเศร้า 2 คำถาม (2Q) การประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม (9Q) และแบบประเมินฆ่าตัวตาย 8 คำถาม (8Q) และแนวทางการดูแลช่วยเหลือตามระดับความรุนแรงของอาการโรคซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และพัฒนาระบบสารสนเทศการติดตามดูแลเฝ้าระวังที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาได้จากการคัดกรองด้วย 2Q โดย อสม. พบว่าประชากรทั้งหมด จำนวน 297,588 ราย มีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ร้อยละ 9.89 (30.216 ราย) และประเมินด้วย 9Q พบว่า มีผู้ที่มีอาการโรคซึมเศร้าร้อยละ 7.20 (1,963 ราย) อาการรุนแรงระดับน้อย ร้อยละ 71.27 (1,399 ราย) ระดับปานกลาง ร้อยละ 18.95 (372 ราย) และระดับรุนแรง ร้อยละ 9.78 (192 ราย) ประเมินด้วย 8Q พบว่ามีผู้ที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย ทุกคน ร้อยละ 33.24 (474 ราย) ได้ให้การดูแลช่วยเหลือในประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกคน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จำนวน 1,963 ราย ได้รับการดูแลช่วยเหลือตามแนวทาง ร้อยละ 47.68 (936 ราย) มีการกลับเป็นซ้ำ ร้อยละ 0.85 (8 ราย) มีความพึงพอใจในการเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า ร้อยละ 91.90 และอัตราการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.07 (ต่อแสนประชากร) โดยสรุป การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรซึมเศร้าจังหวัดยโสธร เป็นการพัฒนาและมีประสิทธิผลครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการค้นหาการคัดกรอง การประเมินโรค การดูแลช่วยเหลือ และดูแลรักษาที่มีการเชื่อมโยงทุกระดับของการบริการ และมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องถึงครอบครัวในชุมชน และเชื่อมโยงเข้ากับสถานบริการทุกระดับ เป็นระบบที่มีสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน บริบทสังคม วัฒนธรรมของพื้นที่ และทรัพยากรทีมีอยู่ในสถานบริการ ประสิทธิผลของระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าจะส่งผลให้ภาระโรคและความสูญเสียปีสุขภาวะในคนไทยลดลง.

Keywords: ฆ่าตัวตาย, โรคซึมเศร้า, การป้องการ, การฆ่าตัวตาย, แบบประเมิน, ความเสี่ยง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 200800248

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: