ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุรีพร แสงสุวรรณ ,พรพรรณ ผดุงเจริญ

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในโครงการ โรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 192.

รายละเอียด / Details:

ภูมิหลัง เด็กคือทรัพยากรอันทรงคุณค่าและเป็นอนาคตของชาติที่ควรเลี้ยงดูให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัยทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ปัจจุบันพัฒนาการของเด็กไทยโดยเฉพาะความลาดทางสติปัญญา (IQ) มีแนวโน้มลดลงด้วย ปัจจัยจากพันธุกรรม อาหารและโภชนาการ และการเลี้ยงดูเด็ก. พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร ทรงมีเป้าหมายสรรค์สร้างสถาบันครอบครัวให้อบอุ่น สนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวให้อบอุ่น สนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง นับเป็นพระปณิธานที่สำคัญอันจะสามารถทำให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีจิตใจดี มีการเจริญเติบโตพัฒนาสมวัย รวมทั้งเป็นสิ่งเชื่อมโยงสู่ชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อ พัฒนาคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กไทยสามารถแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็กไทยได้ ส่งผลให้เด็กไทยเจริญเติบโตเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่า และเป็นอนาคตที่ดีของชาติไทย. วัตถุประสงค์ 1) พัฒนางานอนามัยแม่และเด็กเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กอย่างเป็นองค์รวม 2) ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์สถาบันครอบครัวให้อบอุ่น 3) จัดตั้งชมรมสายใยรักแห่งครอบครัวโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน. วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยประยุกต์รูปแบบการดำเนินการตามมาตรฐานกระบวนการคุณภาพ ร่วมกับองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสอดคล้องตามบริบทของชุมชน ประกอบด้วยการพัฒนางานบริการ การฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมาย การดำเนินงานในชุมชน การจัดทำคู่มือปฏิบัติแก่กลุ่มเป้าหมาย รวม 100 คน ประกอบด้วย หญิงหลังคลอด 30 คน เด็กแรกเกิด -5 ปี 30 คน อสม. หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก 40 คน ประเมินผลจากการสัมภาษณ์ การสังเกตการมีส่วนร่วมโครงการโดยใช้สถิติร้อยละและค่าเฉลี่ย. ผลการศึกษา กลุ่มเป้าหมายหญิงหลังคลอด และเด็กแรกเกิด 0-5 ปี ได้รับบริการตามมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 100 สมาชิกชมรม และองค์กรชุมชนได้สร้างเครือข่ายจัดตั้งชมรมสายใยรักแห่งครอบครัว 1 ชมรม คิดเป็นร้อยละ 100 สมาชิกชมรมมีความตระหนักและเห็นความสำคัญใน การส่งเสริมให้เกิดสายใยรักขึ้นในครอบครัว. ข้อเสนอแนะ เนื่องจากเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว จึงควรมีการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือของชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และควรบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับวัฒนธรรมประเพณีเข้ากับกิจกรรมสรรสร้างสถาบันครอบครัวให้อบอุ่น.

Keywords: สายใยครอบครัว, เด็ก, การพัฒนา, สภาพแวดล้อม, คุณภาพชีวิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

Code: 200800251

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: