ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รัชฎาพร ธรรมน้อย

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินงานการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลลี้ จังหวัดลำพูน.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 55-58.

รายละเอียด / Details:

ปัญหาฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขและสังคมสำคัญของจังหวัดลำพูนที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดในประเทศ โดยในปี 2548-2550 มีอัตรา 18.04,17.76 และ 16.26 ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ เช่นเดียวกันอำเภอลี้ มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงเป็นอันดับ 3 ของจังหวัดและมากกว่าเกณฑ์กำหนด จากสถิติในปี 2548-2550 พบว่ามีอัตรา 17.59, 21.27 และ 17.63 ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์ปัญหาและโอกาสพัฒนาจึงพบว่า ในโรงพยาบาล ระบบการเฝ้าระวังช่วยเหลือและการประเมินคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไม่ครอบคลุม ครบถ้วนทุกจุดบริการ และไม่ต่อเนื่อง และขาดการปฏิบัติตามแนวทางการช่วยเหลืออย่างครบถ้วน ส่วนในชุมชนพบว่าขาดการสะท้อนข้อมูลกลับสู่ชุมชน ชุมชนมีทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักต่อปัญหาการฆ่าตัวตายจึงขาดการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ระบบการประสานงานเครือข่ายการดูแลในชุมชนไม่มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นและความหลากหลาย และภาษาของเชื้อชาติกระเหรี่ยงในพื้นที่ จึงมีอุปสรรคต่อการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหา และจากการวิเคราะห์สาเหตุปัญหาจากแบบสอบสวนการฆ่าตัวตายของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมีเชื้อชาติกระเหรี่ยงเป็นจำนวนมากติดต่อกันมาหลายปี และสาเหตุเกิดจากโรคทางจิตเวช โรคเรื้อรังทางกาย การเสพติดสุรา ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ทะเลาะกับคนใกล้ชิด น้อยใจ ผิดหวัง และหึงหวง. จากสภาพปัญหาเหล่านี้ทางทีมงานสุขภาพจิตและจิตเวชและเครือข่าย จึงได้ร่วมกันดำเนินงานการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชนเป็นกิจกรรมคู่ขนานไปด้วยกันโดยกำหนดกลยุทธ์และมีดัชนีวัด คือ กลยุทธ์ที่ 1.การพัฒนาระบบบริการในสถานพยาบาลเพื่อเฝ้าระวัง ช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย กลยุทธ์ที่ 2.การดูแลและจัดการในกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต และสุราในชุมชน กลยุทธ์ที่ 3.สร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐและเครือข่ายชุมชน กลยุทธ์ที่ 4.สร้างความตระหนักให้ประชาชนโดยมีดัชนีวัด ดังนี้ 1.ร้อยละ 10 ของผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลและคลินิกโรคเรื้อรังได้รับการประเมินคัดกรองภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 2.ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการให้คำปรึกษาและการดูแลสังคมจิตใจไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 3.อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จลดลงมีไม่เกิน 12 ต่อประชากรแสนคน 4.อัตราการพยายามฆ่าตัวตายไม่สำเร็จลดลงร้อยละ 10 ต่อปี 5.ไม่มีอัตราผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำสำเร็จภายใน 1 ปี 6.ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายได้รับการติดตามดูแลต่อเนื่องครบ 1 ปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 7.ไม่มีการพยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายสำเร็จในหอผู้ป่วย กระบวนการดำเนินงานได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมดังนี้ มาตรการเชิงรับในโรงพยาบาล 1.จัดตั้งคลินิกสุขภาพจิตให้การบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช 2.การอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลเพื่อการประเมินคัดกรองค้นหา กลุ่มเสี่ยง การให้การปรึกษาเบื้องต้น และการส่งต่ออย่างครอบคลุมทุกจุดบริการในโรงพยาบาล 3.การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลโดยมีจัดทำแนวทางการปฏิบัติ และมาตรการที่ปลอดภัยรองรับป้องกันการพยายามฆ่าตัวตายซ้ำจากการประสานงานแบบสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง 4.กำหนดให้มีระบบการคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และเฝ้าระวังทุกรายในหอผู้ป่วยและทุกจุดบริการของโรงพยาบาลเพื่อการดูแลเฝ้าระวังต่อเนื่องตั้งแต่แรกรับจนกระทั่งจำหน่าย 5.จัดระบบให้การปรึกษาในกลุ่มเสี่ยงและมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องหลังจำหน่ายและส่งต่อเมื่อกลับสู่ชุมชน 6.พัฒนาระบบการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังจากทีมสหวิชาชีพ 7.มีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการปรับปรุงพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือและเสนอข้อมูลแก่ทีมพัฒนาคุณภาพทางคลินิกของโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนา มาตรการเชิงรุกในชุมชน 1.การพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน โดยการจัดอบรมให้ความรู้เชิงปฏิบัติการในการคัดกรอง การให้คำปรึกษาเบื้องต้น การปรับตัวมีความเข้มแข็งทางใจเมื่อประสบภาวะวิกฤติ และการส่งต่อในชุมชน 2.การสร้างภาคีเครือข่ายสุขภาพจิตเพื่อเฝ้าระวังและดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อ การฆ่าตัวตายในชุมชนให้ครบทุกหมู่บ้าน 3.พัฒนารูปแบบการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชน โดยจัดทำสื่อการ ให้ความรู้เกี่ยวภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเป็น CD 4 ภาษาที่เหมาะสมกับบริบท ผ่านทางหอกระจายข่าวหมู่บ้าน ทางวิทยุชุมชน 4.มีระบบการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและครอบครัวกลุ่มเสี่ยงร่วมกันกับชุมชน 5.จัดระบบข้อมูล วิเคราะห์ และการรายงานผลโดยมีการสะท้อนข้อมูลให้แก่ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาครัฐอื่นในพื้นที่เพื่อประสานความร่วมมือและมีส่วนร่วมดูแลเฝ้าระวังปัญหาการฆ่าตัวตายแบบบูรณาการ 6.จัดให้มีการทำประชาคมของชุมชนในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์ปัญหาวางแผนหาแนวทางแก้ไขป้องกัน และช่วยเหลือดูแลกลุ่มเสี่ยงในชุมชนได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน 7.ส่งเสริมสุขภาพจิตในทุกกลุ่มอายุในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงโดยบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลที่ได้จากการดำเนินงาน 1.มีรูปแบบ การดำเนินงานที่ชัดเจน มีระบบส่งต่อและการดูแลต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งในโรงพยาบาล และเครือข่าย ในชุมชน 2.เกิดเครือข่ายชุมชนที่มีศักยภาพ และสามารถจัดกิจกรรมเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายได้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของชุมชน 3.เกิดนวตกรรม CD4 ภาษาให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าและผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในชุมชนที่ประกอบด้วยภาษาไทย คำเมือง กระเหรี่ยงปกากะณอร์และกระเหรี่ยงโป 4.อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในผู้ป่วยโรคจิตเวชลดลงจากปี 2547 ร้อยละ 60 (ผู้ป่วย 10 รายลดลง เหลือ 6 ราย), ปี 2549 ร้อยละ 33.33 (6 รายลดลงเหลือ 2 ราย ) และอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จลดลง ในปี 2550 ร้อยละ 13.33 5.อัตราการพยายามฆ่าตัวตายมาสำเร็จ ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547-2550 ร้อยละ 44.44, 17.54, 9.10 และ 14.66 ตามลำดับ แผนการพัฒนาต่อเนื่อง 1.พัฒนาระบบและรูปแบบการให้บริการเพื่อเฝ้าระวังดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงทั้งในโรงพยาบาลและชุมชนอย่างต่อเนื่อง 2.การสร้างความตระหนักและเกิดมาตรการสังคม หรือมีนโยบายสาธารณะในการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัยไม่นำมาใช้สำหรับการฆ่าตัวตาย 3.สร้างการมีส่วนร่วมขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ชุมชนและขยายเครือข่ายลงสู่ระดับครอบครัว 4.การพัฒนาศักยภาพชุมชน และครอบครัวในการคัดกรอง ช่วยเหลือและส่งต่อได้เหมาะสม.

Keywords: ฆ่าตัวตาย, การฆ่าตัวตาย, การป้องกัน, ผลการดำเนินการ, สถิติ, สุขภาพจิต, ครอบครัว, สุรา, โรงพยาบาลลี้, ลำพูน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: งานสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลลี้

Code: 200800254

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: