ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธรณินทร์ กองสุข

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบสารสนเทศในการดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า ในจังหวัดยโสธร.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 466.

รายละเอียด / Details:

การดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่การพัฒนาเครื่องมือ หรือบุคลากรเท่านั้น ระบบสารสนเทศก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้การช่วยเหลือผู้ป่วย ดังนั้นจึงมีการพัฒนาระบบสารสนเทศในการดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รวดเร็ว ต่อเนื่องและไม่กลับเป็นซ้ำ ผู้ใช้สะดวกและเข้าถึงได้ง่าย มีการปกป้องข้อมูล และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้วิธีการพัฒนาตามระบบซอฟต์แวร์ (Systems Delopment Life Cycle หรือ SDLC เป็น Web application. ผลการพัฒนาทำให้ได้ระบบสารสนเทศการดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า ที่ประกอบด้วยข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญคือ ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย ข้อมูลญาติและผู้ดูแล ข้อมูลการรักษา/การวินิจฉัยโรค ข้อมูลระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้าที่ประเมินด้วย 9 คำถาม 9Q) และประเมินการฆ่าตัวตายด้วย 8 คำถาม (8Q) และข้อมูลการส่งต่อ ซึ่งแสดงผลออกมาเป็นค่าคะแนนและกราฟที่บอกถึงสถานะและระยะการดูแลช่วยเหลือที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยทุกครั้งที่มารับบริการ ได้แก่ 1). ระยะที่อยู่ในระหว่างรักษา 2). ระยะที่มีอาการทุเลาแต่ยังคงการให้ยารักษา 3). ระยะที่กำลังลดยาลง 4). การนัดและติดตามเฝ้าระวังการกลับซ้ำ (หยุดยาแล้ว) 5). ผู้ป่วยขาดการรักษาไม่มาตามนัดเกิน 1 เดือน ผู้ป่วยมีอาการกลับซ้ำ 7). การจำหน่ายจากระบบดูแลเฝ้าระวังแล้ว (หลังติดตามประเมินด้วย 9Q ครบ 1 ปีไม่พบการกลับซ้ำ ทั้งนี้มีระบบควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย ผู้รับผิดชอบสามารถบันทึกข้อมูลผู้ป่วยได้จากทุกหน่วยที่ให้บริการ ตลอดจนการค้นหาข้อมูลด้วยชื่อผู้ป่วยหรือเลขประจำตัวประชาชนได้ การแสดงผลลัพธ์ เป็นสถานะความเจ็บป่วย ตั้งแต่เริ่มดูแลรักษาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีการส่งต่อผู้ป่วยจะมีการแสดงผลเตือนที่หน้า webpage ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรหลังจากที่นำระบบสารสนเทศนี้ไปใช้ทั้งจังหวัด มีผู้ป่วยในระบบทั้งหมด 936 ราย แบ่งตามสถานะความรุนแรง ดังนี้อยู่ในระหว่างการรักษาร้อยละ 30.98 (290 ราย) ระยะที่มีอาการทุเลาแต่ยังคงการให้ยารักษา ร้อยละ 13.35 (125 ราย) ระยะที่กำลังลดยาลง ร้อยละ 0.96 (9 ราย) การนัดและติดตามเฝ้าระวังการกลับซ้ำ ร้อยละ 3.74 (35 ราย) 5). ผู้ป่วยขาดการรักษาไม่มาตามนัดเกิน 1 เดือน ร้อยละ 0.96 (9 ราย) ผู้ป่วยมีอาการกลับซ้ำ ร้อยละ 0.85 (8 ราย) การจำหน่ายจากระบบดูแลเฝ้าระวัง ร้อยละ 0.64 (6 ราย) และอยู่ในการดูแลเฝ้าระวัง ร้อยละ 48.50 (454 ราย) แสดงให้เห็นว่าระบบนี้มีข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้องในการติดตามดูแลเฝ้าระวังทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบบนี้สามารถนำไปใช้ในการดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่ต้องมีระบบการติดตามประเมินผู้ป่วยดังกล่าวข้างต้น.

Keywords: สุขภาพจิต, โรคซึมเศร้า, การพัฒนาระบบสารสนเทศ, การดูแล, ครอบครัว, ความรุนแรง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200800297

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: