ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศรีวิไล โมกขาว

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินงานโครงการป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 59-60.

รายละเอียด / Details:

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มผู้มีอารมณ์แปรปรวนที่มีความสำคัญมาก โรคหนึ่งจากการคาดการณ์ขององค์อนามัยโลกคาดว่า อีก 2 ทศวรรษหน้า (ปี 2556) โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจขาดเลือด (สมภพ เรืองตระกูล, 2542) ซึ่งควรให้ความสนใจ ทำความเข้าใจและหาทางจัดการเพื่อป้องกัน แก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในปัจจุบันเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆที่แวดล้อมบุคคล มีการเปลี่ยนแปลงและผันผวนอย่างมาก ทำให้บุคคลเผชิญสภาพการสูญเสียที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ความผิดหวัง ล้มเหลวในระยะต่างๆของชีวิต บางครั้งรุนแรงจนบุคคลมาสามารถปรับตัวได้ จนเกิดการทำร้ายตนเอง และพยายามฆ่าตัวตายตามมา และจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าร้อยละ 45.7 ของผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายมาจากโรคซึมเศร้า. การฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตายสำหรับบุคลากรทางสาธารณสุขถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ในแต่ละปีมีคนฆ่าตัวตาย ประมาณ 400,000 คน หรือประมาณวันละ 1,096 คน และแต่ละภูมิภาคมีอัตราที่แตกต่างกัน ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม สำหรับในประเทศไทย จากการศึกษาของกรมสุขภาพจิตในปี 2545 พบว่า เขต 3 มีอัตราการฆ่าตัวตายเป็นลำดับที่ 3 รองลงมาจากเขต 10 และเขต 9 และพบว่าจังหวัดชลบุรี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในเขต 3 คิดเป็น 12.19 ต่อแสนประชากร โดยสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจาก ปัญหาความน้อยใจ ปัญหาผิดหวังในความรัก หึงหวง และปัญหาโรคเรื้อรัง พิการ เสียโฉม ผู้ฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่จะส่งสัญญาณเตือนบางประการก่อนการฆ่าตัวตาย เช่น ซึมเศร้า พูดถึงความคิดอยากตาย มีการพยายามฆ่าตัวตาย ดังนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ทีมผู้ดูแลจะต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันช่วยเหลือ โดยมีเจตคติที่ดี มีความเห็นอกเห็นใจ รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจถึงปัญหาและสาเหตุของการฆ่าตัวตาย มีวิธีการสังเกตสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายเสียแต่เนิ่นๆ และมีบุคคลที่จะให้ความช่วยเหลือลดภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะทำให้ ปัญหาการฆ่าตัวตายและ การพยายามฆ่าตัวตายลดลงได้. จากเหตุผลและความสำคัญดังกล่าว โรงพยาบาลอ่าวอุดมอำเภอศรีราชา เป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี ที่มีผู้ป่วยมารับบริการเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มารับบริการด้วยการพยายามฆ่าตัวตาย จากสถิติการรับบริการผู้ป่วยใน ปี 2548-2549 พบว่า มีผู้ป่วยมารับบริการด้วยการพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าร้อยละ 45 อัตรา การฆ่าตัวตายซ้ำภายใน 6 เดือน มากกว่าร้อยละ 5 การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าไม่ชัดเจน ดังนั้นพยาบาลที่มีบทบาทผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงจะต้องแสดงบทบาทที่สำคัญในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ ให้พ้นจากสภาวะวิกฤต และสามารถคิดแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมได้ ลดปัญหาการฆ่าตัวตายของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถที่จะดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข.

Keywords: ฆ่าตัวตาย, โรคซึมเศร้า, การฆ่าตัวตาย, การป้องกัน, อารมณ์แปรปรวน, ความเสี่ยง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลอ่าวอุดมอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี

Code: 200800255

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: