ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ทัศนีย์ เชื่องทอง และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: นิทาน ต้านเศร้า.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 155.

รายละเอียด / Details:

ความเป็นมาและความสำคัญ ปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความเครียด ปัญหาในครอบครัว การทะเลาะกับบุคคลใกล้ชิด น้อยใจผิดหวัง จากการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน พบว่าการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การป้องกันและให้การช่วยเหลือในชุมชน ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย เนื่องจากศักยภาพบุคลากร สาธารณสุข และแกนนำ/อสม. ในชุมชน ยังไม่เพียงพอ ทีมผู้วิจัยจึงได้คิดค้นนวัตกรรม “นิทาน ต้านเศร้า” มาใช้ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในชุมชนเครือข่าย ในพื้นที่ที่มีปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายสูง เนื่องจากนิทานจะเป็นสื่อที่จูงใจเกิดการเรียนรู้และจดจำได้ง่าย. วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการใช้นวตกรรม “นิทาน ต้านเศร้า” ในการพัฒนาศักยภาพ แกนนำ/อสม.ในด้านความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติในการป้องกันภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย ในชุมชน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี. วิธีการศึกษาเป็นแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experiment Research) แบบ 1 กลุ่ม ทดสอบก่อนและหลัง โดยมีกลุ่มตัวอย่าง คือ แกนนำ/อสม.ที่ปฏิบัติงานในชุมชนเครือข่ายใช้วิธีการเลือกแบบทั้งหมด (Census) ที่เข้าร่วมประชุมประจำเดือนในแต่ละตำบล ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 ถึงเดือนกันยายน 2550 จำนวน 4 ตำบล รวมทั้งหมด จำนวน 264 คน ก่อนดำเนินการได้มีการประเมินความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติในด้านการป้องกันภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายของแกนนำ/อสม. ที่ปฏิบัติงานในชุมชนดำเนินการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 5 ครั้ง ครั้งละ 1 ประเด็น ในการประชุมแต่ละเดือน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง/ครั้ง ทุกเดือน ซึ่งผู้วิจัยได้คิดค้นนวตกรรม “นิทาน ต้านเศร้า” โดยศึกษาค้นคว้าและประยุกต์ นิทาน ให้มีเนื้อเรื่องหรือข้อคิด ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเนื้อหาความรู้ในการพัฒนา ศักยภาพแกนนำ/อสม.ที่ปฏิบัติงานในชุมชน จำนวน 5 เรื่องในแต่ละประเด็น ได้แก่ ในด้าน การทำงานสุขภาพจิตในชุมชน นิทานเรื่อง “ยักษ์อันธพาล” การจัดการกับความเครียด นิทานเรื่อง “หนอนกุหลาบ” การป้องกันปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย นิทานเรื่อง “ใบไม้แห้ง” การมองโลกในแง่ดี นิทานเรื่อง “นายทหารดี” และความสุขในครอบครัว นิทานเรื่อง “สวรรค์ในใจ” และได้นำนวตกรรม “นิทานต้านเศร้า” มาใช้ ดำเนินการพัฒนาศักยภาพแกนนำ/อสม.ในชุมชนโดยวิธีการเล่านิทานเรื่องที่ประยุกต์ขึ้น พร้อมสรุปการเรียนรู้/ข้อคิดเชื่อมโยงกับความรู้ในแต่ละประเด็น หลังจากดำเนินการครบ 5 ครั้ง. ในเดือนตุลาคม 2550 ผู้วิจัยประเมินความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติในด้านการป้องกันภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย และประเมินความพึงพอใจ ของแกนนำ/อสม.ทุกคนที่ได้เข้ารับการพัฒนาศักยภาพ ทั้ง 4 ตำบล และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ ได้แก่ จำนวน ร้อยละ การหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ T-test. ผลการศึกษา พบว่าแกนนำ/อสม.ปฏิบัติงานในชุมชนเครือข่าย หลังจากได้รับการพัฒนาศักยภาพ ด้วยการใช้นวตกรรม"นิทานต้านเศร้า" มีความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติในด้านการป้องกันภาวะซึมเศร้าและ การฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นกว่าก่อนการใช้นวตกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีความพึงพอใจในระดับมาก ร้อยละ 90.

Keywords: นิทานต้านเศร้า, นวกรรม, ซึมเศร้า, ฆ่าตัวตาย, สุขภาพจิต, ภาวะซึมเศร้า, การฆ่าตัวตาย, ครอบครัว, การพัฒนาศักยภาพ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลชลบุรี

Code: 200800302

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: