ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุปผา มูสิกะ

ชื่อเรื่อง/Title: การปฏิบัติของผู้ดูแลเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีประวัติฆ่าตัวตายและที่ไม่มีประวัติฆ่าตัวตาย.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 170.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเชิงบรรยายนี้ เพื่อศึกษาการปฏิบัติของผู้ดูแลเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีประวัติฆ่าตัวตายและที่ไม่มีประวัติฆ่าตัวตาย และเปรียบเทียบการปฏิบัติระหว่างกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งสองกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างคือผู้ดูแลหลักของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีประวัติฆ่าตัวตาย จำนวน 30 คน และที่ไม่มีประวัติฆ่าตัวตาย จำนวน 30 คน ที่มารับบริการ ณ แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1). ข้อมูลทั่วไปของผู้ดูแล และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 2). การปฏิบัติของผู้ดูแลเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัย ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน และหาความเที่ยงโดยวิธีสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคได้ค่าเที่ยง โดยรวมเท่ากับ 0.91 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบการปฏิบัติของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งสองกลุ่ม ด้วยสถิติทดสอบทีอิสระ (independent t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1. การปฏิบัติของผู้ดูแลเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีประวัติฆ่าตัวตายและที่ไม่มีประวัติฆ่าตัวตายพบว่าผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีประวัติฆ่าตัวตายมีการปฏิบัติเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (x=2.41, SD=0.50) เมื่อพิจารณาในรายด้าน พบว่า ด้านจิตใจมีการปฏิบัติในระดับมาก (X=3.13,SD=0.42) ส่วนด้านการเฝ้าระวังอาการเตือน (X=2.32, SD=0.59) และด้านการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (X=1.95,SD=1.00) เป็นการปฏิบัติในระดับปานกลางทั้งสองด้าน สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่มีประวัติฆ่าตัวตายมีการปฏิบัติเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (X=1.86,SD=0.54) เมื่อพิจารณาในรายด้าน พบว่าด้านการดูแลด้านจิตใจมีการปฏิบัติในระดับมาก (X=2.73,SD=0.61) ส่วนด้านการเฝ้าระวังอาการเตือน (X=1.66, SD=0.54) และด้านการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (X=1.66,SD=0.54) และด้านการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (X=1.59,SD=1.07) เป็นการปฏิบัติในระดับปานกลางทั้งสองด้าน 2. เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยการปฏิบัติ พบว่าผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีประวัติฆ่าตัวตาย มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโดยรวมมากกว่าของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่มีประวัติฆ่าตัวตาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹.05) เมื่อพิจารณาในรายด้าน พบว่าค่าเฉลี่ยการปฏิบัติของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีประวัติฆ่าตัวตายมากกว่าของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่มีประวัติฆ่าตัวตาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ทั้งด้านการเฝ้าระวังอาการเตือนและด้านการดูแลด้านจิตใจ ยกเว้นการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งสองกลุ่มมีการปฏิบัติไม่แตกต่างกัน (p<.05). ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับทีมสุขภาพ พัฒนาแนวทางการพยาบาลในการส่งเสริมผู้ดูแลในการปฏิบัติเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างเหมาะสม และมีคุณภาพต่อไป.

Keywords: ฆ่าตัวตาย,โรคซึมเศร้า, ผู้ดูแล, ซึมเศร้า, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

Code: 200800308

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: