ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุษบา อนุศักดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาวิจัย เรื่อง อัตตลักษณ์ของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายจังหวัดลำพูน (Characters of People suicided in Lampoon Province).

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 209.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาอัตตลักษณ์ของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายจังหวัดลำพูนมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะที่สำคัญและพฤติกรรมของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายในจังหวัดลำพูน โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย จำนวน 52 คน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549-30 กันยายน 2550 ที่มารับบริการในสถานบริการสาธารณสุข และเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เครื่องมือที่ใช้ใน การศึกษาแบบสอบถามผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายของกรมสุขภาพจิต การสัมภาษณ์เชิงลึก การทำ Focus group และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ผลการศึกษา ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นเพศชาย 28 คน (ร้อยละ 54.16) เพศหญิง 24 คน (ร้อยละ 45.83) มีช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี มากที่สุด 32 คน (ร้อยละ 62.5) อายุต่ำสุด คือ อายุ 14 ปี 1 คน (ร้อยละ 4.16) อายุ สูงสุด 64 ปี จำนวน 1 คน (ร้อยละ 4.16) การศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษามาก จำนวน 38 คน (ร้อยละ 70.83) ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นนักศึกษาและผู้ใช้แรงงาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีบุคลิกภาพที่จริงจังมาก จำนวน 18 คน (ร้อยละ 33.33) รองลงมา คือ บุคลิกภาพชอบสังคม จำนวน 13 คน (ร้อยละ 25.00 ) และขี้อาย จำนวน 11 คน (ร้อยละ 20.83) กลุ่มตัวอย่างที่พยายามฆ่าตัวตายมักจะดื่มสุรามาก่อน จำนวน 30 คน (ร้อยละ 58.34) และมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย จำนวน 28 คน (ร้อยละ 54.16) เมื่อมีปัญหากลุ่มตัวอย่างจะเก็บความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายโดยไม่เล่าให้ใครฟัง จำนวน 42 คน (ร้อยละ 79.10 ) เมื่อสัมภาษณ์เชิงลึกและเข้าร่วมกลุ่มทำ Focus Group พบว่า เมื่อประสบปัญหากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบให้ใครมานินทาว่าร้าย รวมถึงการดุด่าของบิดา-มารดา และพบว่าการดำเนินชีวิตของ กลุ่มตัวอย่างชอบความฟุ้งเฟื้อ มีค่านิยมเลียนแบบแฟชั่นโดยไม่คำนึงถึงฐานะรายได้และความเป็นอยู่ของตัวเอง. ข้อเสนอแนะ ในระดับบุคคลควรมีการพัฒนาความเข้มแข็งทางจิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาในระดับครอบครัวควรมีการพัฒนาวิธีคิดการเลี้ยงดูบุตรหลานผสมผสานวิธีการเลี้ยงดูโดยเข้าใจเข้าถึงจิตใจของเด็กสมัยใหม่รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพาระหว่างบุคคลในครอบครัวและชุมชนทั้งนี้ สังคมควรมีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงลดวัฒนธรรมทางวัตถุนิยม.

Keywords: สุขภาพจิต, อัตตลักษณ์, ฆ่าตัวตาย, พฤติกรรม, การดำเนินชีวิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: -

Code: 200800314

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: