ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สวิตตา ธงยศ

ชื่อเรื่อง/Title: การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในตำบลกุตาไก้ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 74.

รายละเอียด / Details:

การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและมีแนวโน้มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายโดยในปี 2551 กำหนดตัวชี้วัด คือ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต้องไม่เกิน 6.3 ต่อแสนประชากร อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของอำเภอปลาปาก ในปี 2550 จำนวน 5 คน คิดเป็น 9.69 ต่อแสนประชากร โดยเฉพาะตำบลกุตาไก้พบว่าในปี 2550 เป็นพื้นที่ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดของอำเภอปลาปาก คือ จำนวน 3 คน คิดเป็น 33.94 ต่อแสนประชากร ปัญหาการฆ่าตัวตายส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อ ครอบครัว ผู้ที่เกี่ยวข้องและชุมชนมากที่สุด ดังนั้นโรงพยาบาลปลาปากร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลกุตาไก้ ได้เล็งเห็นว่าปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่สำคัญของพื้นที่ จึงได้ดำเนินโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายในตำบลกุตาไก้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐและเครือข่ายชุมชนในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้รับการคัดกรองและการดูแลอย่างเหมาะสม กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย กลุ่มแกนนำในชุมชน จำนวน 76 คน ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และครู วิธีการในการดำเนินโครงการ ประกอบด้วยการวิเคราะห์ชุมชนเพื่อศึกษาถึงสาเหตุ และลักษณะของชุมชนที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การให้ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวช การให้การช่วยเหลือเบื้องต้น การให้การปรึกษาเบื้องต้น การใช้แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยการใช้กระบวนการ A-I-C ในแต่ละกลุ่มผู้นำชุมชน. ผลการดำเนินงานพบว่า ผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชมากขึ้น และมีแนวทางในการเฝ้าระวังผู้มีปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีแนวทางและกิจกรรมในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ส่งผลให้สามารถคัดกรองและค้นพบผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตส่งต่อโรงพยาบาลปลาปาก เพื่อรับการรักษาและรับการปรึกษา จากการดำเนินโครงการครั้งนี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในตำบลอื่นๆ ได้.

Keywords: ฆ่าตัวตาย, สุขภาพจิต, การฆ่าตัวตาย, การป้องกัน, ความเสี่ยง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลปลาปาก

Code: 200800261

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: