ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พรณิภา พลอยกิติกูล

ชื่อเรื่อง/Title: การจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าและการป้องกันการพยายามฆ่าตัวตายซ้ำ โรงพยาบาลชุมชนสามง่าม จังหวัดพิจิตร.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 118.

รายละเอียด / Details:

เป้าหมายการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติ ความจริงใจในการช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวร่วมกับการทำงานของเครือข่ายในการดูแล ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและเคยพยายามฆ่าตัวตายเพราะเชื่อในคุณค่าของความเป็นมนุษย์เป็นคุณลักษณะ สำคัญของการปฏิบัติงานสุขภาพจิตที่สามารถช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำเรื่องเล่า ต้องมีสักวันกับชีวิตที่เหลืออยู่. สภาพภูมิหลังและบริบท อารมณ์ คือ ชื่อของผู้หญิงไทยคนหนึ่ง อายุ 28 ปี รูปลักษณะท้วม ผิวสีคล้ำ มักจะนั่งก้มหน้าตามองต่ำ ในหน้าดูเศร้า เคยพยายามฆ่าตัวตาย 2 ครั้ง โดยการรับประทานยาเกินขนาด และกินน้ำยาล้างห้องน้ำ ชอบคิดคนเดียว ปวดศีรษะเป็นประจำ บางเวลาจะเก็บตัวแต่ภายนอกจะแสดงว่าตนเองเป็นคนร่าเริง พฤติกรรมแสดงออกกับครอบครัวคือการเถียง โมโหก้าวร้าว ขว้างปาข้าวของเมื่อรู้สึกมีเรื่องกดดัน อาการมีแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกร่วมด้วย. อารมณ์เคยผ่านการมีชีวิตครอบครัว 1 ครั้ง เป็นการตัดสินใจของตนเองพ่อแม่ไม่เห็นชอบแต่อารมณ์คิดว่าความรักช่วยได้ ประคับประคองชีวิตอยู่ประมาณ 1 ปีกว่า แต่ไม่ประสบความสำเร็จอารมณ์ต้องอุ้มลูกไปอยู่กับพ่อแม่ ความทุกข์ใจปรากฏอย่างเด่นชัด เมื่อเธอต้องเป็นผู้แบกภาวะทั้งหมด สิ่งที่หนักสำหรับเธอมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1). ภาระหนี้สินเดิมและที่ตนเองหามาสำหรับใช้ในครอบครัวรวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำวันอีกมากมาย 2). ต้องดูแลพ่อที่เป็นอัมพฤกษ์ ปัจจุบันผู้ป่วยยังมีความคิดร้ายตัวเองในช่วงที่มีเรื่องไม่สบายใจ. แนวทางการช่วยเหลือ วัตถุประสงค์ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถอยู่กับปัญหาได้อย่างเข้มแข็งขึ้นและสามารถคิดเชื่อมโยง อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับสรีระว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร โดยผู้ป่วยสามารถเยียวยาตนเองเบื้องตนได้ จนผู้ป่วยไม่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำ กระบวนการช่วยเหลือประกอบด้วย 1). การคัดกรองจากทีมสุขภาพ 2). สร้างสัมพันธภาพเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ มุ่งเน้น ความจริงใจ ที่จะช่วยเหลืออย่างเพื่อนมนุษย์ ตั้งแต่การฟังอย่างใส่ใจ การแกะรอยตามประเด็น การใช้ตนเองเพื่อการบำบัด (use of sclf) 3). เทคนิคการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) การเสริมสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ 4). การประสานความร่วมมือจากองค์กรของรัฐนอกและในเครือข่าย เช่น พมจ. สถานีอนามัย คลินิก โทรศัพท์ 5). การรักษาทางยา 6). การบำบัดครอบครัว 7). เข้ารับการอบรมโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 8). การติดตามอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย ผู้ป่วยรู้สึกว่าได้รับการปลดทุกข์และรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า และลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแก่คนรอบข้าง มีทางออกในการดำเนินชีวิตสามารถอยู่กับปัญหาอย่างเข้มแข็งมากขึ้น โดยมีอาการทางสรีระน้อยครั้งที่เกิดจากความรู้สึกที่ทุกข์ใจและครอบครัวมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การแสดงออกที่เหมาะสมมากขึ้น. ด้านกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน ผู้ป่วยให้การชื่นชมจากคำพูดว่า ที่ผ่านมาเธอไม่สามารถพูดเรื่องทุกข์ใจให้คนอื่นฟังแต่ทุกครั้งที่มาที่นี่รู้สึกมีความสุขและสบายใจ โดยผู้ป่วยจะให้ความร่วมมือในการมาตามนัดทุกครั้งไม่เคยผิดนัดแม้เพียงครั้งเดียว ผู้ปฏิบัติรู้สึกเป็นสุขที่ผู้ป่วยให้ ความเชื่อมั่นต่อการรักษา. ด้านโรงพยาบาล โรงพยาบาลเป็นแหล่งพึ่งพาทางใจแก่ผู้รับบริการ และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นมิตร.

Keywords: ฆ่าตัวตาย, สุขภาพจิต, การจัดการความรู้, ภาวะซึมเศร้า, การป้องกัน, การฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: รพ.สามง่าม จังหวัดพิจิตร.

Code: 200800286

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: