ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กนกนวล โพธิ์ศรี

ชื่อเรื่อง/Title: เรื่องเล่า ชาวห้วยคต.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 123.

รายละเอียด / Details:

บทนำและวัตถุประสงค์ ปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช เป็นปัญหาสำคัญของเครือข่ายบริการ โรงพยาบาลห้วยคต จากข้อมูลโรงพยาบาลห้วยคต ตั้งแต่ ปี 2548-2550 พบว่ามีผู้พยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จเกินเกณฑ์เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข โดยในปี 2550 มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึง 18.8 ต่อประชากรแสนคน มีผู้ป่วยโรคจิต 35 คน ผู้ป่วยโรคจิตวิตกกังวล 201 คน ผู้มีภาวะซึมเศร้า 5 คน. จากการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้พยายามฆ่าตัวตาย ปี 2548-มิถุนายน 2551 จำนวน 36 ราย พบว่าเป็นเพศชายร้อยละ 52.7 เพศหญิงร้อยละ 47.3 อายุที่พบมากที่สุดคือ 30-39 ปี ร้อยละ 30.5 รองลงมา อายุ 20-29 ปี ร้อยละ 25 และอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 19.4 ตามลำดับ สาเหตุของการพยายามฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่มาจากการน้อยใจคนใกล้ชิด ดุด่าว่ากล่าวหรือตำหนิ ร้อยละ 28.5 และทะเลาะกับคนใกล้ชิด ร้อยละ 22.6 ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 10 ราย พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมีการเจ็บป่วยทางจิตร่วมด้วย โดยทราบจากพฤติกรรมส่วนบุคคล ได้แก่ มีการใช้สุรา เป็นประจำ 2 คน ใช้สุราก่อนตัดสินใจทำร้ายตนเอง 2 คน เคยใช้ยาบ้า 1 คน เป็นโรคจิตวิตกกังวล 1 คน ปัจจัยทางสังคมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประชาชนมีอาชีพรับจ้าง เกษตรกรรม หลังเลิกงานจะตั้งวงดื่มสุราแก้ปวดเมื่อยเกือบทุกวัน เมื่อเมาสุรา จะทะเลาะกัน ประกอบกับสารเคมีเกษตรหาได้ง่าย สะดวกในการหยิบใช้. โรงพยาบาลห้วยคต ได้ดำเนินงานส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.ลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 2.ผู้พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จได้รับการดูแลต่อเนื่อง 3.เพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาโดยแพทย์ ของผู้ป่วยทางจิต และโรคจิตเวช 4.บูรณาการงานสุขภาพจิตสู่ชุมชนทุกเครือข่าย โดยมีผลการดำเนินงานดังนี้. ในสถานบริการ 1.จัดให้มีผู้รับผิดชอบหลัก ประจำคลินิกบริการปรึกษา คลินิกคลายเครียด จัดกิจกรรม กลุ่มจิตสังคมผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มวัยทอง และกลุ่มผู้สูงอายุในโรงพยาบาล โดยใช้ทักษะของการให้คำปรึกษา CBT และการสร้างความเข้มแข็งทางใจ ผสมผสานกัน ในการช่วยเหลือผู้รับบริการ 2.พัฒนาศักยภาพบุคลากรในโรงพยาบาล และสถานีอนามัยเครือข่าย ให้สามารถคัดกรอง ให้บริการปรึกษา และส่งต่อผู้ป่วยทางจิตและโรคจิตเวชได้ จำนวน 45 คน คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช ในผู้รับบริการทุกกลุ่มวัย ผลการดำเนินงาน 1.ให้การช่วยเหลือผู้พยายามฆ่าตัวตาย 11 คน ผู้มีภาวะซึมเศร้า 23 คน ให้ปรับตัวได้ไม่คิดทำร้ายตนเอง/ฆ่าตัวตายซ้ำ 2.มีผู้รับบริการกลุ่มจิตเวช 14 คน กลุ่มวัยทอง 45 คน กลุ่มผู้สูงอายุ 13 คน 3.ร้อยละ 100 ของผู้รับบริการในโรงพยาบาล และร้อยละ 80 ของผู้รับบริการในสถานีอนามัย(ที่มาด้วยอาการเจ็บป่วยทางกาย) ได้รับการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต.

Keywords: สุขภาพจิต, โรคจิตเวช, ฆ่าตัวตาย, ซึมเศร้า, โรควิตกกังวล, พฤติกรรม, การใช้สุรา, เครียด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี (โรงพยาบาลชุมชน).

Code: 200800287

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: