ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พัชรี คำธิตา

ชื่อเรื่อง/Title: บิณฑบาตความทุกข์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 121.

รายละเอียด / Details:

จากการเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรม สู่อุตสาหกรรมทำให้เกิดการดำเนินชีวิตของคน เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งโครงสร้างครอบครัว จากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว มีการอพยพแรงงานจากชนบทสู่เมืองใหญ่ เกิดภาวการณ์แข่งขันแก่งแย่งชิงดี จิตใจผู้คนเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยวไม่มั่นคง มีวิตก กังวล ผิดหวังและเศร้า มุ่งแต่จะหาเงินและใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อหาความสุขความสำราญเป็นกระแสวัตถุนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนขาดคุณธรรมและน้ำใจ โอบอ้อมอารีสังคมยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้นเท่าไหร่ จิตใจผู้คนก็ยิ่งเสื่อมถอยมากขึ้นเป็นทวีคูณ อาชญากรรมมากขึ้น ยาเสพติดแพร่หลาย ผู้คนเหมือนไม่รู้จักกัน ต่างคนต่างอยู่ ยิ่งเพิ่มความเครียด รายได้ไม่แน่นอน งานไม่มั่นคง ความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ราบรื่น สภาพครอบครัวมีความรุนแรงและมีความขัดแย้ง เสียความรู้สึก หมดพลังอำนาจ รู้สึกสิ้นหวัง เพราะทำอะไรก็ไม่สำเร็จ มีอุปสรรค รู้สึกจนหนทางช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ท้อถอย ท้อแท้ สุดท้ายขาดสติคิดทำร้ายตนเองและฆ่าตัวตายในที่สุด เหตุแห่งการขาดสตินี่เอง ที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายยังคงเป็นปัญหาสังคมอยู่จนถึงทุกวันนี้. จากความเชื่อที่ว่า เรื่องจิตใจมีผลต่อภาวะสุขภาพอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อ กำลังใจไปจนถึงการเจริญสติ เจริญสมาธิ ซึ่งจะทำให้เกิดจิตที่สงบ ดังคำกล่าวที่ว่า “สติมา ปัญญามี”. ดิฉันและทีมงานได้พูดคุยถึงปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ถึงแม้ว่า แนวโน้มการฆ่าตัวตายจะลดลง ด้วยกระบวนการต่างๆ กลยุทธ์ที่หลากหลายรูปแบบ และด้วยวิธีคิดที่เป็นระบบ จากความร่วมมือ ร่วมใจ ของภาคีเครือข่ายต่างๆ แต่ทีมงานของเราก็ยังมีความรู้สึกว่า “ยังเข้าไม่ถึง” และดูแลไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะ “การเข้าถึงจิตวิญญาณ” เมื่อเป็นเช่นนี้ ดิฉันจึงได้มองหาภาคีเครือข่ายที่จะช่วยเติมเต็ม และเกื้อกูลต่อภารกิจขององค์กร โดยอาศัยหลักมิตรภาพ และความมุ่งมั่น ในการเข้าถึงคุณความดี ความงาม และความจริงของชีวิต ดิฉันจึงได้นำข้อมูลความงาม และความจริงของชีวิตดิฉันได้นำข้อมูล และปัญหาการฆ่าตัวตาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์กรสงฆ์ และได้เปิดเวทีสัมมนาขึ้น ดิฉันได้มีโอกาสถวายองค์ความรู้ให้กับองค์กรสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะอำเภอ เจ้าอาวาสวัด จำนวน 34 วัด 6 อาราม รวมทั้งหมด 41 รูป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการสอนพระสงฆ์เพื่อให้เกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี และวิธีการใหม่ๆ ที่จะมาเติมเต็มระบบสุขภาพให้เข้มแข็ง. ”โครงการบิณฑบาตความทุกข์” เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากองค์กรสงฆ์ที่ผ่านกระบวนการ เรียนรู้กันทุกวัด ในอำเภอแม่ท่าได้มีการจัดตั้ง “บาตร” ใส่ความทุกข์ไว้ในบริเวณวัดแล้วเชิญชวนพี่น้อง ประชาชน ที่มีความทุกข์เขียนความทุกข์ใส่บาตร เจ้าอาวาสเป็นผู้นำความทุกข์มาพิจารณาเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ทุกข์ใบใดที่ลงชื่อไว้พระสงฆ์จะเชิญมาพบที่วัดหรือพระสงฆ์จะออกไปเยี่ยมที่บ้านแล้วแต่โอกาส หรือกรณีพบว่ามีการเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงฆ์ก็จะติดตามเยี่ยมที่ โรงพยาบาลเพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วยและญาติ แต่หากทุกข์ใบใดไม่ได้ลงชื่อไว้พระสงฆ์จะเทศนารวมในทุกๆ วัน พระและเวลารับกิจนิมนต์ หากแต่เป็นทุกข์ด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากทุกข์ทางใจคณะสงฆ์ก็จะประสานการส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และนอกจากนี้ องค์กรสงฆ์ยังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยการจัดตั้งวิทยุชุมชนสัมพันธ์และให้สุขภาพจิตศึกษาผ่านสถานีวิทยุและยังได้ประสานเครือข่ายสุขภาพอื่นๆ ในการช่วยเหลือดูแลผู้มีปัญหาในด้านต่างๆ.

Keywords: สุขภาพจิต, ความทุกข์, ความเครียด, ครอบครัว, ฆ่าตัวตาย, ความรุนแรง, ความสัมพันธ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: งานบริการสุขภาพชุมชน โรงพยาบาลแม่ทา จังหวัด ลำพูน.

Code: 200800288

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: