ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธีราภา ธานี

ชื่อเรื่อง/Title: คุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคจิตเภทในเขตพื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร.

แหล่งที่มา/Source: ร่วมมือ ร่วมพลัง : มุ่งหวังสู่สุขภาพจิตดี ในปี 2563 การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 83.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ คุณภาพชีวิตเป็นสิ่งที่สะท้อนการดำเนินชีวิต และสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคล โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตไว้ 6 องค์ประกอบ คือ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านระดับความเป็นอิสระของบุคคล ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความเชื่อส่วนบุคคล (WHOQOL Group, 1994) ผู้ป่วยโรคจิตเภทเป็นบุคคลที่ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกัน จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action rereach) ซึ่งได้ดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทและประเมินการดูแลตนเองด้านสุขภาพจิตของญาติ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ขั้นตอนที่ 2 ดำเนินการจัดกิจกรรมกลุ่มในกลุ่มญาติและกลุ่มผู้ป่วยเป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (self help group) และขั้นตอนที่ สาม ประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท และประเมินการดูแลตนเองด้านสุขภาพจิตของญาติหลังดำเนินกิจกรรม. วัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทและประเมินการดูแลตนเองด้านสุขภาพจิตของญาติในพื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลโรคจิตเภทใน พื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร. วิธีการศึกษา คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหาผู้ป่วยโรคจิตเภทจำนวนมาก และยุ่งยากซับซ้อน จำนวน 48 ราย และญาติผู้ป่วย จำนวน 48 ราย เครื่องมือที่ใช้ 1) แบบประเมินคุณภาพชีวิตของ WHO 2) โปรแกรมการจัดทำกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (self help group) 3) แบบประเมินการดูแลสุขภาพจิตครอบครัว 4) โปรแกรมการทำกลุ่มสนับสนุนและให้กำลังใจ. ผลการศึกษา 1) ผลการประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตเภท ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตระดับปานกลาง ร้อยละ 71.00 และระดับดี ร้อยละ 27.00 2) ผลการประเมินการดูแลตนเองด้านสุขภาพจิตตนเองและครอบครัวจากญาติผู้ดูแล พบว่ามีการดูแลสุขภาพจิตตนเองเหมาะสมคิดเป็นร้อยละ 86.7 และครอบครัวเหมาะสมคิดเป็นร้อยละ 96.2. สรุปผลการศึกษา จากผลการวิจัย ส่งผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตเภทและญาติผู้ดูแลในขณะเดียวกันได้ตอบตัวชี้วัดที่ดำเนินงานของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ด้านการดูแลสุขภาพจิตตนเองและครอบครัว. ข้อเสนอแนะ ควรมีการพัฒนาบุคลากรเครือข่ายให้มีทักษะในการจัดกิจกรรมตามโปรแกรมการจัดทำกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน และโปรแกรมการทำกลุ่มสนับสนุนและให้กำลังใจ และพัฒนาคุณภาพของโปรแกรมให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง.

Keywords: คุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคจิตเภท

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

Code: 2010000114

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: