ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พรประไพ แขกเต้า, นิรมล โกสิยพันธ์

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านโดยอาสาสมัครสาธารณสุข อ. หลังสวน จ. ชุมพร.

แหล่งที่มา/Source: ร่วมมือ ร่วมพลัง : มุ่งหวังสู่สุขภาพจิตดี ในปี 2563 การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 86.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ การเจ็บป่วยทางจิตเวชเป็นการเจ็บป่วยที่เรื้อรัง ส่งผลให้การรับรู้ตนเอง ศักยภาพด้านการดูแลตนเอง การประกอบอาชีพและทักษะการใช้ชีวิตในสังคมลดลง การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชในปัจจุบันมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยกลับสู่ชุมชนและครอบครัวโดยเร็วเพื่อให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังมีอาการทางจิตหลงเหลืออยู่ ภาระการดูแลจึงเป็นของครอบครัว บางรายเกิดภาวะเครียด รู้สึกขาดที่พึ่งเมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบรุนแรงและถูกรังเกียจจากชุมชน ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน โดยมีคุณภาพชีวิตในระดับต่ำ เป็นภาระแก่ครอบครัวและชุมชน ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคจิตดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีคุณภาพ คือ ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนประคับประคองทั้งผู้ป่วยและครอบครัว แกนนำด้านสุขภาพที่สำคัญในชุมชน คือ อาสาสมัครสาธารณสุข งานจิตเวชชุมชนโรงพยาบาลสวนสราญรมย์จึงมีแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านโดยอาสาสมัครสาธารณสุขขึ้น. วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ลดอัตราการกลับไปรักษาซ้ำ. วิธีการศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นอสม.ใน อ.หลังสวน จ. ชุมพร จำนวน 30 คน ผู้ป่วยจิตเวชและ ครอบครัว จำนวน 37 คน โดยดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้ความรู้ อสม. เรื่องโรคทางจิตเวช อาการ การรักษา อาการข้างเคียงของยา การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านและฝึกปฏิบัติและให้อสม.ร่วมกันกำหนดรูปแบบและแบบฟอร์มการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน 2. หลังการอบรม อสม. ติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยง และนิเทศติดตามโดยงานจิตเวชชุมชน 3. ประเมินผลโดย การสัมภาษณ์ สังเกต และการตอบแบบประเมิน. ผลการศึกษา ความสามารถของ อสม. ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านอยู่ในระดับปานกลาง (X=3.67,SD=.82) ผู้ป่วยและครอบครัวมีความพึงพอใจต่อการเยี่ยมบ้านในระดับมาก (X=2.70,SD=.41 และ X=2.76,SD=.36 ตามลำดับ) ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลสามารถอยู่บ้านได้นานเกิน 3 เดือนร้อยละ 94.8 (กลับไปรักษาซ้ำ 2 ราย) อสม. สามารถค้นหาผู้ป่วย ประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกันปลดโซ่ตรวนและนำผู้ป่วยไปรับการรักษา 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ญาติปกปิด. สรุปผลการศึกษา การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านโดยอสม. เป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยการให้ความรู้ และให้อสม.มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบและแบบฟอร์มการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่บ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ระยะเวลา 3 เดือน พบว่าเป็นวิธีการที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวให้สามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้น สามารถอยู่ในชุมชนได้นานเกิน 3 เดือน ผู้เยี่ยมและผู้ได้รับการเยี่ยมมีความพึงพอใจ. ข้อเสนอแนะ ควรมีการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยการพัฒนาความรู้และทักษะแก่ อสม. มีการควบคุมกำกับให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นงานประจำ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้น.

Keywords: การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน, อาสาสมัครสาธารณสุข

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: งานจิตเวชชุมชน โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ อ. พุนพิน จ. สุราษฎร์ธานี

Code: 2010000116

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: