ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุทยา นาคเจริญ

ชื่อเรื่อง/Title: สภาวะสุขภาพจิตของนักโทษคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์. ปีที่ 1, ฉบับที่ 1, 2547, หน้า 1.

รายละเอียด / Details:

ปัญหาอาชญากรรมนับว่าเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนนักโทษในเรือนจำเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อนักโทษทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะสุขภาพจิตและความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของนักโทษคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย กลุ่มตัวอย่างเป็นนักโทษคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกายในทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำกลางคลองเปรม โดยทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติเป็นนักโทษคดี ความผิดต่อชีวิตและร่างกายต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ ไม่มีปัญหาในการได้ยินและยินดีให้ความร่วมมือในการวิจัย จำนวน 58 ราย เป็นนักโทษชาย 28 ราย นักโทษหญิง 30 ราย ทำการรวบรวมข้อมูลในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 โดยวิธีการสนทนากลุ่มจำนวน 6 กลุ่ม ร่วมกับการสังเกตเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยวิธีแจกแจงความถี่ ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา. ผลการวิจัยพบว่า ผู้ให้ข้อมูลมีการรับรู้สภาวะสุขภาพจิตของตนเองว่าเครียด อึดอัด ท้อแท้ เบื่อ กลุ้มใจ ห่อเหี่ยว อยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังรู้สึกหงุดหงิด กดดัน และเก็บกด การรับรู้สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต สามารถสรุปได้ 9 ประเด็น คือ สภาพแวดล้อมและบรรยากาศของเรือนจำ กฎระเบียบของเรือนจำ การฝึกอาชีพในเรือนจำ การรักร่วมเพศ การติดต่อกับครอบครัวญาติพี่น้อง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ เพื่อนผู้ต้องขัง การถูกทำโทษและการคาดการณ์การดำเนินชีวิตภายหลังพ้นโทษ ส่วนวิธีการจัดการกับสภาวะสุขภาพจิตที่เป้ฯปัญหามี 2 วิธี คือ การจัดการอารมณ์ของตนเองและขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น ทั้งนี้ การเลือกใช้ชีวิตการใดขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหา แหล่งให้ความช่วยเหลือและผลลัพธ์ของวิธีการกับปัญหาที่เคยปฏิบัติ สำหรับความต้องการช่วยเหลือ ได้แก่ ความต้องการด้านการดูแลจิตใจ ด้านการให้อภัยโทษ ด้านการยอมรับของครอบครัวและสังคม ด้านเงินทุน ด้านอาชีพและด้านที่อยู่อาศัย. ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นถึงการรับรู้สภาวะสุขภาพ รวมทั้งสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต และความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของนักโทษในระหว่างอยู่ในเรือนจำสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับการเผชิญปัญหา การคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต การปรับสาเหตุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและการตอบสนองความต้องการของนักโทษที่มีความสอดคล้องกับสภาวะ สุขภาพจิตที่เป็นปัญหาและตรงตามความต้องการของนักโทษคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย.

Keywords: สภาวะสุขภาพจิต, นักโทษ, คดีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: -

Code: 2010000136

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: