ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิเชฐ อุดมรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: ประวัติของจิตเวชศาสตร์ในประเทศไทย.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ปีที่ 53, ฉบับผนวก 1, สิงหาคม 2551, หน้า 14S-15S.

รายละเอียด / Details:

ในปีพุทธศักราช 2542 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ณ บริเวณปากคลองสาน ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมเป็นตึกของพระภักดีพัทรากร และได้เปิดรับคนไข้โรคจิตครั้งแรก 30 คน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2432 จึงถือว่าวันดังกล่าวคือวันเริ่มต้น หรืออรุณรุ่งของจิตเวชศาสตร์ในประเทศไทย ปัจจุบันโรงพยาบาลนี้ คือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา. จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือ เมื่อปี พ.ศ. 2485 เมื่อ ศ.นพ.ฝน แสงสิงแก้ว ได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งท่านได้พัฒนาโรงพยาบาล รวมทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชเป็นอย่างมาก ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย และยังเป็นนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยคนแรกอีกด้วย หลังจากยุคสมัยของ ศ.นพ.ฝน แสงสิงแก้ว แล้ว จิตเวชศาสตร์ในประเทศไทยก็ได้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ในรูปแบบเฉกเช่นเดียวกับในประเทศทางแถบซีกโลกตะวันตก โดยเฉพาะเมื่อมีจิตแพทย์ไทยหลายคนกลับจากการฝึกอบรมในต่างประเทศ นับจนถึงปัจจุบันนี้จิตเวชศาสตร์ในประเทศไทยก็มีอายุเกือบครบ 120 ปี แล้ว และได้พัฒนาไปมากกว่าที่ใครจะคาดคิด ในยุคสมัยเมื่อเกือบ 120 ปีก่อน อย่างไรก็ตามจำนวนจิตแพทย์ไทยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศก็ยังน้อยอยู่มาก และยังมีปัญหาทางสุขภาพจิตอีกหลายเรื่องที่ต้องการการแก้ไขให้ลุล่วงและสมบูรณ์ แม้ว่าจะได้มีการแก้ไขไปบ้างแล้วก็ตาม ด้วยแผนกยุทธ์ต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านจิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิตที่จะดำเนินการต่อไปในภายภาคหน้า จึงเชื่อว่าจิตเวชศาสตร์ในประเทศไทยจะมีอนาคตที่สดใสในทศวรรษหน้าที่จะมาถึงนี้.

Keywords: ประวัติ, จิตเวชศาสตร์, สุขภาพจิต, ประเทศไทย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ สงขลา 90110

Code: 2010000149

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: