ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุทัยวรรร มูลเจริญ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการร่วมกิจกรรมค่ายพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพต่อพฤติกรรมสุขภาพ และดัชนีมวลกายของผู้มีภาวะอ้วน โซนเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา.

แหล่งที่มา/Source: รวมผลงานวิชาการดีเด่น กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550. หน้า 152.

รายละเอียด / Details:

งานวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของกระบวนการกลุ่มที่มีต่อความเชื่อด้านสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพ และดัชนีมวลกายของผู้มีภาวะอ้วน ที่มีอายุ 35-59 ปี ในเขตโซนเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ระหว่างเดือน มกราคม – กันยายน พ.ศ. 2550 ทำการศึกษาโดยคัดเลือกผู้มีภาวะอ้วน 48 คน เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มแบบไม่พักแรมเป็นเวลา 2 วัน ปรับความเชื่อด้านสุขภาพของบุคคล และปรับพฤติกรรมสุขภาพเรื่อง การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม การออกกำลังกาย พฤติกรรมเกี่ยวกับความเครียด และการตรวจสุขภาพ เยี่ยมติดตามหลังเข้าค่ายในระยะ 2,4 และ6 เดือน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ การสังเกตแบบมีโครงสร้าง การสนทนากลุ่ม และการตรวจร่างกายก่อนและหลังเข้าค่าย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS ใช้ค่าสถิติ Wilcoxon Signed Rank Test ร่วมกับข้อมูลคุณภาพ. ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงที่สมรสแล้วและอยู่ด้วยกันจบชั้นประถมศึกษา อาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ครอบครัวต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท เป็นกลุ่มอ้วน (BMI 25.00-29.99 กก./ม.) 34 คน และอ้วนมาก(BMI ≥ 30 กก./ม.) 14 คน หลังเข้าค่ายคะแนนความเชื่อด้านสุขภาพและคะแนนพฤติกรรมสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.01 )กลุ่มที่มีพฤติกรรมสุขภาพระดับสูงสามารถลดดัชนีมวลกายได้มากที่สุด โดยหลังเข้าค่าย 6 เดือนกลุ่มตัวอย่างมีดัชนีมวลกายลดลง จากเดิม 26 คน ทำให้กลุ่มอ้วนเหลือ 31 คน กลุ่มดัชนีมวลกายปรกติ (BMI<25กก./ม.)3คน ส่วนกลุ่มอ้วนมากมีจำนวนเท่าเดิม ดัชนีมวลการเฉลี่ยหลังเข้าค่ายน้อยกว่าก่อนเข้าค่ายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ มีการรับประทานอาหารโดยคำนึงถึงดัชนีมวลกาย และออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายเพิ่มขึ้น จึงสรุปว่ากระบวนการกลุ่มในค่ายพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ มีผลทางบวกต่อการปรับความเชื่อด้านสุขภาพพฤติกรรมสุขภาพและการลดดัชนีมวลกายของกลุ่มตัวอย่าง. อย่างไรก็ตามยังพบปัจจัยที่ทำให้ลดดัชนีมวลกายไม่สำคัญ คณะผู้วิจัยยังคงมีการติดตามและขยายผลทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรพัฒนาการวิจัยกึ่งทดลองและเครื่องมือวิจัย รวมทั้งหามาตรการทางสังคมที่ช่วยปรับพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มอื่นๆ เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังในกลุ่มเสี่ยง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยระยะยาวต่อไป.

Keywords: พฤติกรรมสุขภาพ, ภาวะอ้วน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทรชินี แม่ปิง จังหวัดพะเยา

Code: 2010000155

ISSN/ISBN: 978-976-06-8565-4

Country of publication: ไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: