ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พัชร์พิมพ์ภา เขื่อนธนะ

ชื่อเรื่อง/Title: การลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชน (Adolescents) ต.เชียงกลาง อ.เชียง จ. น่าน.

แหล่งที่มา/Source: รวมผลงานวิชาการดีเด่น กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550. หน้า 175.

รายละเอียด / Details:

การดื่มสุราเป็นปัญหามีความชุกสูงในเยาวชน พบข้อมูลเยาวชนใน อำเภอ เชียงกลางและจังหวัดน่านดื่มสุราร้อยละ 40 , 40.8 ตามลำดับ แม้ว่าโรงพยาบาลเชียงกลางร่วมกับทุกภาคส่วนได้ร่วมกันจัดรณรงค์ลดการดื่มสุราในทุเทศกาล แต่ปัญหาการดื่มสุราในเยาวชนกับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวคิดที่จะศึกษาพฤติกรรมและวิถีการดื่มสุรา สาเหตุและปัจจัยของปัญหา รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาการดื่มสุราในเยาวชน จึงได้วิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นกลุ่มเยาวชนอายุน้อยกว่า 18 ปี ที่มีการดื่มสุราอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน หรือ เฉลี่ย 12 ครั้งต่อปี โดยการคัดเลือกอย่างเจาะจงจากหมู่บ้าน 9 หมู่บ้านของตำบลเชียงกลาง และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน องค์กรส่วนท้องถิ่น ครู ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้บริหาร การเก็บรวบรวมข้อมูล ทำโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกในเยาวชนจำนวน 8 ราย ผู้เกี่ยวข้อง 14 ราย การสนทนากลุ่มในเยาวชนจำนวน 5 กลุ่ม 31 ราย และในผู้เกี่ยวข้อง 5 กลุ่ม 32 รายรวมทั้งสิ้น 63 ราย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธี วิเคราะห์เชิงเนื้อหา และมีการยืนยันข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation) การศึกษานี้ทำให้ช่วงเมษายน – พฤศจิกายน 2549 ผลการศึกษาพบว่า เยาวชนดื่มสุราครั้งแรกในระดับประถมศึกษาด้วยสาเหตุการดื่มโดยไม่ได้ตั้งใจ และพบว่าเพื่อนมีอิทธิพลต่อการดื่มมากที่สุด โอกาสในการดื่มมากที่สุดคือช่วงเทศกาลต่างๆ สถานที่ใช้ดื่มมากที่สุดคือบ้านเพื่อน ด้วยสาเหตุและปัจจัยในการดื่มดังนี้ 1) เกิดจากพฤติกรรมเรียนแบบผู้ใหญ่ 2) ปัญญาหาครอบครัวและความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่อบอุ่น 3) ดื่มเพื่อให้ลืมความทุกข์ คลายเหงา และคลายเครียด 4) ใช้การดื่มเป็นเครื่องมือในการสร้างปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อน 5) อิทธิพลจากสื่อบุคคลและค่านิยมตามแฟชั่นวัยรุ่น และ 6) นโยบายเหล้าเสรีของรัฐทำให้ถึงการดื่มสุรามากขึ้น ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหามีดังนี้ 1) การปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคม โดยต้องลดคุณค่าของสุรา เช่น ไม่นำมาเป็นของขวัญ เลิกการเลี้ยงสุราในงานที่ควรเลิก เช่น งานศพ วันพระ ฯลฯ 2) การพัฒนาทักษะชีวิตและการเพิ่มพ้นที่ทางสังคมให้กับเด็กและเยาวชน และ 3 อ) ต้องอาศัยความร่วมมือทางทุกภาคส่วน และผู้ใหญ่ในสังคมในการเป็นแบบอย่างที่ดี หลังจากนั้นได้จัดเวทีคืนข้อค้นพบให้กับชุมชน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนปฏิบัติการและการนำไปสู่การปฏิบัติ มีการกำกับติดตาม จนเกิดกิจกรรมและมาตรการต่างๆ ทั้งของหมู่บ้าน/ตำบล เช่น งดเหล้าในงานศพ วันพระ งานแข่งขันกีฬา กิจกรรมครอบครัวอบอุ่น บางหมู่บ้านเกิดชมรมเยาวชนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านสุขภาพและกิจกรรมอื่นๆ ของชุมชน.

Keywords: เยาวชน , การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลเชียงกลาง

Code: 2010000159

ISSN/ISBN: 978-976-06-8565-4

Country of publication: ไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: