ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วรวรรณ จุฑา, พิทักษ์พล บุณยมาลิก

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นในสถานศึกษา ปี 2547.

แหล่งที่มา/Source: วารสารราชานุกูล. ปี่ที่ 23, ฉบับที่ 2, พฤษภาคม-สิงหาคม 2551. หน้า 10.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของวันรุ่นในสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประโยควิชีพ (ป.ว.ช) และเพื่อหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นในสถานศึกษา เป็นวิจัยสำรวจโรงเรียนในช่วงเวลาหนึ่ง (Cross-sectional, school-based survey) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน/ นักศึกษาระดับมัธยมปลาย และประโยควิชาชีพ (ป.ว.ช.) ทั้งที่สังกัดรัฐบาลและเอกชน ประจำปีการศึกษา 2546 ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นโดยผสมการแบ่งชั้นภูมิและการแบ่งกลุ่ม (Multi-stage stratified cluster sampling) จำนวนตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 13,053 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ให้ตอบด้วยตนเอง ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป และแบบประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย สถิติที่ใช้คือ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ Multiple logistic regression. ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 17.86 ปี เป็นเพศหญิงเกือบร้อยละ 60 และเพศชายประมาณ ร้อยละ 40 ประมาณสองในสามเป็นนักเรียน/นักศึกษาสายสามัญและประมาณหนึ่งในสามเป็นสายอาชีวะ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประมาณครึ่งหนึ่งมีเกรดเฉลี่ยล่าสุดระหว่าง 2.00 ถึง 2.99. ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในภาพรวม พบความชุกของความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นในสถานศึกษา ร้อยละ 50.5 โดยเป็นความชุกของกลุ่มที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 39.9 ปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อกลุ่มที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือเป็นโรคซึมเศร้า ได้แก่ เพศหญิง นักเรียน/นักศึกษาที่นับถือศาสนาคริสต์ พ่อแม่หย่าหรือแยกกันอยู่ ไม่ได้อาศัยอยู่กับผู้ปกครอง ปัจจัยป้องกันที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ได้แก่ ประเภทโรงเรียนอาชีวศึกษา เกรดเฉลี่ยระหว่าง 1.00-2.99 และบิดาตกงาน/กำลังหางานทำ สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง พบความชุก ร้อยละ 10.6 ปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ได้แก่ เพศหญิง ประเภทโรงเรียนอาชีวศึกษา นับถือศาสนาคริสต์ นักเรียน/นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 1.00-2.99 ผู้ที่พ่อแม่หย่าหรือแยกกันอยู่ ไม่ได้อาศัยอยู่กับผู้ปกครองอยู่กับผู้ปกครองคนอื่น บิดาตกงาน/กำลังหางานทำ มีอาชีพพ่อบ้าน อาชีพรับจ้างทั่วไป มารดาตกงาน/กำลังหางานทำ บิดาจบปริญญาตรี หรือสูงกว่า. สรุปผลการวิจัย ผลจากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นไทยในสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประโยควิชาชีพ (ป.ว.ช.) อยู่ในระดับสูง และผลการศึกษานี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในการวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป.

Keywords: ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย, วัยรุ่นในสถานศึกษา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: สำนักสุขภาพจิตสังคม โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม โรงพยาบาลศรีธัญญา

Code: 2010000218

ISSN/ISBN: 80578036

Country of publication: ไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: