ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิราภรณ์ นพคุณขจร

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตที่บ้านต่อความเครียดในการดูแลของผู้ดูแล ผู้ป่วยโรคจิตเภทและความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคจิตเภท โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง. ปีที่ 24, ฉบับที่ 2, พฤษภาคม-สิงหาคม 2551 หน้า 27.

รายละเอียด / Details:

ผู้ดูและผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ได้รับการพัฒนาทักษะและความรู้ในการดูแลย่อมส่งผลให้ การดูแลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้การรับรู้ต่อความเครียดในสถานการณ์การดูแลน้อยลง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจับแบบกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และระยะติดตามผล 1 เดือน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านต่อความเครียดในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทและ ความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคจิตเภท กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคจิตเภทและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทที่มารับยาแทนผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้วิจัยจัดให้กลุ่มตัวอย่างเข้าสู่กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 ราย ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนด กลุ่มทดลอง คือ กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน กลุ่มควบคุม คือ กลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ โดยจัดให้กลุ่มตัวอย่างมีความคล้ายคลึงกันในเรื่อง เพศ อายุ และการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวินิจฉัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) โปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2) แบบวัดความเครียดในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค เท่ากับ 0.88 และ 3) แบบสอบถามความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยจิตเภท เท่ากับ 0.90 และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางเมื่อมีการวัดซ้ำ (two-way repeated measures analysis of variance) และ การทดสอบค่าทีชนิด 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน (independent t-test). ผลการศึกษาพบว่า . 1.ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดในการดูแลของผู้ดูแลที่ได้รับโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านระยะก่อนการทดลองกับระยะหลังการทดลองสิ้นสุดทันทีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ ในระยะก่อนการทดลองกับระยะติดตามผล 1 เดือน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05. 2.ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดในการดูแลของผู้ดูแลหลังการเข้าร่วมโปรแกรมสิ้นสุดทันที และในระยะติดตามผล 1 เดือน ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการเข้าร่วมโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001. 3.ค่าเฉลี่ยคะแนนความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ผู้ดูแลได้รับโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านในระยะก่อนการทดลองกับระยะหลังการทดลองสิ้นสุดทันทีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ ระยะก่อนการทดลองกับระยะติดตามผล 1 เดือนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001. 4.ค่าเฉลี่ยคะแนนความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคจิตเภทที่มีผู้ดูแลได้รับโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านหลังจากผู้ดูแลเข้าร่วมโปรแกรมสิ้นสุดทันที และในระยะติดตามผล 1 เดือน มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ผู้ดูแลไม่ได้รับการเข้าร่วมโปรแกรม การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001. ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการเข้าร่วมโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชสามารถลดความเครียดในการดูแลผู้ป่วยแก่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท และส่งผลให้ผู้ดูแลสามารถดูแลให้ผู้ป่วยร่วมมือในการรักษาด้วยยาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นบุคลากรทางสุขภาพจิตควรนำโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านไปใช้เพื่อลดความเครียดของผู้ดูแล และลดการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลต่อไป.

Keywords: โรคจิตเภท, การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน, ความเครียด, ความร่วมมือ, การรักษาด้วยยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง

Code: 2010000236

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: