ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กัลยาณี โนอินทร์

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง. ปีที่ 24, ฉบับที่ 2, พฤษภาคม-สิงหาคม 2551, หน้า 48-49.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลนาน้อย จังหวัดน่าน ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่ายเลือกกลุ่มตัวอย่าง ได้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2548 โรงเรียนบ้านหนองห้า จำนวน 15 คน เป็นกลุ่มทดลอง และโรงเรียนบ้านาหลวง จำนวน 17 คน เป็นกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มทดลองได้รับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ จำนวน 16 กิจกรรม เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ละ 2 กิจกรรม แต่ละกิจกรรมใช้เวลาประมาณ 60-90 นาที กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการจัดกิจกรรม เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ กิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์สำหรับเด็กประถมปลายที่พัฒนาโดยกรมสุขภาพจิต และ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของกรมสุขภาพจิตที่นักเรียนประเมินตนเอง และประเมินโดยครูประจำชั้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ก่อนและหลังการดำเนินการจัดกิจกรรมโดยใช้ t-test ผลการศึกษาพบดังนี้. ‹d>1.นักเรียนที่ได้รับและไม่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์มีค่าเฉลี่ยคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ในระยะก่อนการจัดกิจกรรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05. 2.นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์มีค่าเฉลี่ยคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ในระยะก่อนและหลังการจัดกิจกรรมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยนักเรียนประเมินตนเอง ขณะที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยครูประจำชั้นเป็นผู้ประเมิน. 3.นักเรียนที่ไม่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์มีค่าเฉลี่ยคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ในระยะก่อนและหลังการจัดกิจกรรมของกลุ่มทดลองแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยนักเรียนประเมินตนเองนักเรียนที่ไม่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์มีค่าเฉลี่ยคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ในระยะก่อนและหลังการจัดกิจกรรมของกลุ่มทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยครูประจำชั้นเป็นผู้ประเมิน. 4.นักเรียนที่ได้รับและไม่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์มีค่าเฉลี่ยคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ในระยะหลังการจัดกิจกรรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05. ผลการศึกษาไม้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากการประเมินความฉลาดทางอารมณ์โดยตนเองและโดยครูประจำชั้น ทำให้มุมมองต่อสถานการณ์ต่างๆ แตกต่างกันออกไปส่งผลให้ผลการประเมินที่ได้แตกต่างกันไปด้วย อย่างไรก็ตามผลการศึกษาช่วยให้ครูและนักเรียนทราบถึงความฉลาดทางอารมณ์ในส่วนที่ต้องปรับปรุง และ/หรือ ต้องส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้กิจกรรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป.

Keywords: ความฉลาดทางอารมณ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลนาน้อย

Code: 2010000239

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: