ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สาวิตรี อัษณางค์กรชัย , อภินันท์ อร่ามรัตน์ อุษณีย์ พึ่งปาน , มานพ คณะโต , นภดล กรรณิกา , อาภา ศิริวงศ์ ณ อยุธยา.

ชื่อเรื่อง/Title: สถานการณ์ปัญหาจากสารเสพติดของประเทศไทยในปัจจุบัน.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. ปีที่ 53, ฉบับผนวก 1 สิงหาคม 2551, หน้า 24S.

รายละเอียด / Details:

โครงการสำรวจครัวเรือนระดับชาติเพื่อประมาณการจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับสุราและสารเสพติด ปี พ.ศ. 2550 ดำเนินการโดยเครือข่ายองค์วิชาการสารเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม เป็นการสำรวจประชากรอายุระหว่าง 12-65 ปีในครัวเรือนทั่วประเทศ การสำรวจนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกสำรวจในปี พ.ศ. 2544 ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณการจำนวนประชากรที่เคยใช้สารเสพติดชนิดต่าง ๆ รวมทั้งยารักษาโรค บุหรี่และแอลกอฮอล์ในชีวิตใน 1 ปี และ 30 วันที่ผ่านมา และลักษณะของการใช้สารเสพติดเหล่านี้. โครงการประมาณการฯ พ.ศ. 2550 ใช้วิธีการสำรวจประชากรในครัวเรือนทั่วประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างแบ่งหลายชั้นภูมิ ได้จังหวัดทั้งหมด 29 จังหวัด ได้ขนาดตัวอย่าง 11,348 ครัวเรือน รวมคนตัวอย่าง 26,633 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.67 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในกลุ่มอายุ 12-65 ปี การเก็บข้อมูลประสบการณ์ใช้สารเสพติด 12 ชนิดในตลอดชีวิต หนึ่งปี และ 30 วันที่ผ่านมาโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ต่อหน้าตามแบบสอบถามที่มีโครงสร้าง. ผลการสำรวจพบว่า ประชากรที่มีประสบการณ์เคยใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่งในชีวิต มีจำนวนประมาณ 2,521,507 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.42 ของประชากรอายุ 12-65 ปี ประชากรที่ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่งใน 1 ปี และ 30 วันก่อนสัมภาษณ์ มีจำนวนประมาณ 575,312 คนและ 335,806 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.24 และ 0.72 ของประชากรตามลำดับ สารเสพติดที่มีผู้ใช้ใน 1 ปีและ 30 วันที่ผ่านมามากที่สุดได้แก่ กระท่อม กัญชา ยาบ้า และสารระเหย เรียงตามลำดับ อัตราความชุกของการใช้สารเสพติดในปัจจุบันสูงที่สุดในภาคใต้ (ร้อยละ 4.73 ในหนึ่งปีและร้อยละ 3.76 ใน 30 วันที่ผ่านมา) โดยมีกระท่อมเป็นสารที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2546 จำนวนผู้ใช้ยาบ้า กัญชา ฝิ่น และเฮโรอินในปีนี้ลดลง ในขณะที่จำนวนผู้ใช้กระท่อมและสารระเหยเพิ่มขึ้น และพบสารฯชนิดใหม่เพิ่มขึ้น ในปีนี้ ได้แก่ ยาอี ยาเค ไอซ์และโคเคน จากผลการสำรวจรวมทั้งข้อมูลการบำบัดรักษาและจับกุมคดีสารเสพติดต่างให้ผลตรงกันว่า การใช้สารเสพติดทุกชนิดยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน พบในคนทุกเพศ ทุกวัยและอาชีพ สถานการณ์นี้จึงชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการให้การศึกษา ป้องกันและควบคุมแก้ไขปัญหาจากการใช้สารเสพติดทุกชนิด และควรมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องเพื่อติดตามสถานการณ์ต่อไป.

Keywords: สถานการณ์, ปัญหา, สารเสพติด, ประเทศไทย, ปัจจุบัน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

Code: 2010000262

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ บทคัดย่อ

Download: