ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชะไมพร พงษ์พานิช

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการแบบกลุ่มของเด็กออทิสติกก่อนวัยเรียนโดยผู้ปกครองมีส่วน ของโรงพยาบาลยุวประสารทไวทโยปถัมภ์.

แหล่งที่มา/Source: ร่วมมือ ร่วมพลัง : มุ่งหวังสู่สุขภาพจิตดี ในปี 2563 การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 97 .

รายละเอียด / Details:

จากสถิติของโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์มีผู้ป่วยออทิสซึมรับบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นทุกปีวิธีการบำบัดรักษาจึงต้องมีปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมต่อปัญหาและจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ให้ได้วิธีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีที่สุด. การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการแบบกลุ่มของเด็กออทิสติก ก่อนวัยเรียนโดยผู้ปกครองมีส่วน ของโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ โดยมีสมมติฐานว่าภายหลังจบโปรแกรม จะทำให้ผู้ปกครองมีความรู้และทักษะการฝึกเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้น ความเครียดของผู้ปกครองลดลงและผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เป็นการศึกษาแบบกลุ่มเดียววัดสองครั้ง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครองและเด็กออทิสติก ที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นDSM-TV Criteria และมีอายุต่ำกว่า 6 ปี จำนวน 30 ครอบครัว เข้าโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกก่อนวัยเรียนแบบกลุ่มโดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม ที่ผู้วิจัยและคณะได้จัดทำขึ้น ใช้ระยะเวลาในการฝึกกิจกรรมที่โรงพยาบาลโดยพยาบาลเป็นผู้นำกลุ่มกิจกรรม 2 วันต่อสัปดาห์นาน 12 สัปดาห์ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือน สิงหาคม 2550 และทุกสัปดาห์ผู้ปกครองจะต้องฝึกกิจกรรมให้กับผู้ป่วยตามโปรแกรมอย่างต่อเนื่องที่บ้าน เก็บข้อมูลทั่วไปจากแฟ้มเวชระเบียนและสอบถามเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง เก็บข้อมูลก่อนและหลังเข้าโปรแกรมโดยใช้แบบสอบถามผู้ปกครองเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคออทิซึม ประเมินระดับความเครียดโดยแบบประเมินความเครียดโดยแบบประเมินความเครียดของโรงพยาบาลสวนปรุง ประเมินทักษะของผู้ปกครองโดยพยาบาลผู้นำกลุ่ม และแบบประเมินระดับความรุนแรงของอาการออทิซึม ตามมาตรฐาน Childhood Autism Rating Scale โดยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างผู้ปกครอง 30 ครอบครัว ประกอบด้วยเพศชาย 9 ราย และเพศหญิง 21 ราย ความสัมพันธ์กับผู้ป่วยคือเป็นมารดา 18 ราย บิดา 9 ราย และอีก 3 ราย เป็นผู้ดูแลอื่นๆ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา / ปวช และปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 40 และ 33.3 ตามลำดับ สัดส่วนผู้ป่วยออทิสติก เพศชาย : เพศหญิง = 3.3: 1 อายุ เฉลี่ย 3.54 ปี เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างความรู้ ทักษะในการฝึกเด็กออทิสติก ความเครียดของผู้ปกครองและอาการของเด็กก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการ พบว่า ทักษะผู้ปกครองและอาการของเด็กดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.001) ส่วนความรู้เพิ่มขึ้นและความเครียดลดลงแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภายหลังเข้าโปรแกรม ทำให้ผู้ปกครองมีทักษะในการฝึกเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้น แต่มีข้อบกพร่องบางประการที่ต้องปรับแก้ไข เช่น ผู้ปกครองให้ความเห็นว่ามีความยากง่ายแตกต่างกันไป ผู้วิจัยจึงต้องพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมแยกตามความรุนแรงของอาการ คาดว่าจะสามารถจัดทำเป็นคู่มือหลักสูตรตามโปรแกรม ร่วมทั้งจัดทำอุปกรณ์ฝึกทักษะ ของเล่นต่างๆ ตามโปรแกรมการฝึก เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลทั่วประเทศในเครือข่ายของโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ สามารถจัดโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการเพื่อช่วยเหลือเด็กออทิสติกก่อนวัยเรียนได้เช่นกัน.

Keywords: โปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการ, เด็กออทิสติก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลยุวประสารทไวทโยปถัมภ์

Code: 2010000265

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: